แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำนองทรัพย์สินไว้แก่บริษัทจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 40,000 บาท แล้วโจทก์เป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันบริษัทจำเลย 99,853.90 บาท ก่อนบริษัทจำเลยจะถูกฟ้องล้มละลายเพียง 4 วัน โจทก์ได้ชำระเงิน 50,000 บาท ให้แก่บริษัทจำเลย โดยบริษัทจำเลยยอมลดหนี้ให้ 49,853.90 บาท และทำหนังสือว่าจะปลดจำนองให้ การที่บริษัทจำเลยยอมปลดหนี้จำนวน 49,853.90 บาท และปลดจำนองให้โจทก์นั้น บริษัทจำเลยได้กระทำต่อโจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นลูกหนี้ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าหนี้ กรณีจึงไม่เข้าเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 115 แต่การที่บริษัทจำเลยแสดงเจตนาจะปลดจำนองและปลดหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นจำนวนสูงให้แก่โจทก์เปล่า ๆ ในขณะที่บริษัทจำเลยก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว ย่อมเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยฝ่ายเดียวได้กระทำลงทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจขอเพิกถอนนิติกรรมปลดหนี้ดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 113 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์ยังคงผูกพันที่จะต้องชำระหนี้จำนวนนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของบริษัทจำเลยบุคคลล้มละลาย
หนังสือที่ ก. กรรมการบริษัทจำเลยทำให้โจทก์มีข้อความว่า ส่วนการปลดจำนองจะต้องรอใบมอบอำนาจของ ว. ก่อนจึงทำได้ ดังนี้เป็นเพียงบริษัทจำเลยแสดงเจตนาจะปลดจำนองให้เท่านั้น การทำหนังสือปลดจำนองยังมิได้กระทำต่อกัน เพราะการปลดจำนองมีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องรอใบมอบอำนาจของ ว. กรรมการผู้จัดการก่อน ดังนั้น การปลดจำนองจึงยังไม่ได้เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 (2) สัญญาจำนองจึงยังไม่ระงับสิ้นไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระเงินค่าเบี้ยประกันที่โจทก์ค้างชำระอยู่ ไม่ได้ฟ้องร้องบังคับในเรื่องจำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าหนี้สินถึงกำหนดชำระเมื่อใด บริษัทจำเลยเพิ่งเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้โดยฟ้องแย้ง กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 กล่าวคือหนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่งเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี บริษัทจำเลยจึงชอบที่จะได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า บริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีนางกุสุม บุรพิพัฒน์ เป็นกรรมการ ซึ่งมีอำนาจลงชื่อและประทับตราเป็นสำคัญแทนบริษัทจำเลยได้ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๘ โจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ ๑๒๐ เนื้อที่ ๘๐ ตารางวา พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างราคา ๔๐,๐๐๐ บาท ไว้กับจำเลย เพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยเป็นจำนวนเงินไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยไม่คิดดอกเบี้ย โจทก์ได้เป็นหนี้จำเลยอยู่เป็นจำนวนเงิน ๙๙,๘๕๓ บาท ๙๐ สตางค์ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๑๒ โจทก์ได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่จำเลย ๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีก ๔๙,๘๕๓ บาท ๙๐ สตางค์ จำเลยได้ปลดหนี้ให้โจทก์ และได้มอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยจำเลยสัญญาว่าจะปลดจำนองโดยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ปรากฏตามภาพถ่ายใบรับเงินและคำรับรองท้ายฟ้อง หมายเลข ๒ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองหลายครั้ง จำเลยขอผัดไปเรื่อย ๆ จึงขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
ปรากฏว่าบริษัทจำเลยตกเป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งว่า การรับชำระหนี้และลดหนี้ให้โจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้อง ได้กระทำขึ้นก่อนหน้าที่บริษัทจำเลยจะถูกฟ้องล้มละลายเพียง ๔ วัน และก่อนที่ศาลแพ่ง ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพียง ๒ เดือน ทั้งการลดหนี้ก็เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ การกระทำของจำเลยและกรรมการบริษัทจำเลยจึงเป็นการมิชอบ อยู่ในลักษณะที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจจะขอให้ศาลสั่งให้เพิกถอนการกระทำนี้ได้ตามมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ อยู่แล้ว ข้อความในเอกสารดังกล่าวหาใช่หนังสือปลดจากการจำนองที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เพราะไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจะกระทำได้ นางกุสุม บุรพิพัฒน์ กรรมการบริษัทผู้ทำเอกสารดังกล่าวมีความสนิทชอบพอกับโจทก์เป็นส่วนตัว เงินที่นางกุสุม บุรพิพัฒน์ ลงชื่อรับไว้จากโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าได้นำเข้าบัญชีบริษัท และไม่ว่านางกุสุม บุรพิพัฒน์ จะมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยเพียงใดหรือไม่ก็ตาม เมื่อในเอกสารยังมีข้อความว่าจะต้องรอนายวิกุล บุรพิพัฒน์ กรรมการจัดการของบริษัทก่อน ก็ต้องถือว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน เพราะยังมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาต่อไปอีกโดยไม่มีที่สิ้นสุด นิติกรรมของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดและต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งหนี้รายนี้ไม่มีการชำระหนี้โดยชอบ โจทก์ยังคงเป็นหนี้จำเลยอยู่เต็มจำนวน ทั้งโจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ทำสัญญาจำนองด้วย โจทก์ได้ทราบดีแล้วว่าหนี้รายนี้ถึงกำหนดเพราะเหตุบริษัทจำเลยล้มละลาย โจทก์จึงมีหน้าที่ชำระหนี้ให้จำเลยโดยมิพักต้องทวงถาม จึงฟ้องแย้งขอให้ศาลเพิกถอนการกระทำของจำเลยกับนางกุสุม บุรพิพัฒน์ กรรมการบริษัทจำเลยซึ่งเป็นโมฆะนั้นเสีย ให้โจทก์ชำระหนี้ ๙๙,๘๕๓ บาท ๙๐ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยจำนองที่ค้างชำระเป็นเวลา ๕ ปี เป็นเงิน ๓๗,๔๔๕ บาท ๒๑ สตางค์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน ๙๙,๘๕๓ บาท ๙๐ สตางค์ ตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางกุสุม บุรพิพัฒน์ กรรมการบริษัทจำเลยได้รับเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทจากโจทก์ และได้ทำเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ ให้โจทก์ตามอำนาจและหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยโดยมิชอบ และโดยสุจริต จำเลยไม่เคยปฏิเสธหรือบอกล้างนิติกรรมที่นางกุสุม บุรพิพัฒน์ ทำให้โจทก์เลย หากนางกุสุม บุรพิพัฒน์ ไม่นำเงินที่รับชำระหนี้จากโจทก์เข้าบัญชีบริษัท ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะว่ากล่าวเอากับนางกุสุม บุรพิพัฒน์ เอง ตามสัญญาจำนอง จำเลยมีสิทธิบังคับจำนองได้ภายในวงเงิน ไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น จึงไม่ทำให้ผู้อื่นเสียเปรียบแต่อย่างใด จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้ซ้ำและเต็มจำนวนอีก ทั้งไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย เพราะจำเลยตกลงไม่คิดดอกเบี้ยจากโจทก์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายและไม่ผูกพันบริษัทจำเลย โจทก์จำเลยไม่ต้องทำความตกลงในสารสำคัญแห่งสัญญากันอีก เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้โจทก์เพราะไม่มีมูลหนี้อันใดเหลืออยู่อีก โจทก์ไม่เคยทราบว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยไม่เคยทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ และไม่เคยบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน ๔๙,๘๕๓.๙๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี แก่จำเลยนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยต่างฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่บริษัทจำเลยยอมปลดหนี้ค่าเบี้ยประกันจำนวน ๔๙,๘๕๓ บาท ๙๐ สตางค์ และปลดจำนองให้แก่โจทก์นั้น บริษัทจำเลยได้กระทำให้แก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นลูกหนี้มิใช่ฐานะเจ้าหนี้ดังที่โจทก์ฎีกาจริง กรณีจึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้ยกขึ้นวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้พิเคราะห์ดูฟ้องแย้งแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยได้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ และตามมาตรา ๑๑๓ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ และเมื่อได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่บริษัทจำเลยแสดงเจตนาจะปลดจำนองและยอมปลดหนี้ค่าเบี้ยประกันจำนวนเงิน ๔๙,๘๕๓ บาท ๙๐ สตางค์ ซึ่งเป็นจำนวนสูงให้แก่โจทก์เปล่า ๆ โดยในขณะนั้นบริษัทจำเลยก็มีหนี้สินล้นพ้นตัวเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ในตัวว่าลำพังแต่บริษัทจำเลยฝ่ายเดียวได้กระทำลงทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยจึงมีอำนาจที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมปลดหนี้ค่าเบี้ยประกันดังกล่าวนันได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๓ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ โจทก์จึงยังคงผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันจำนวนนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของบริษัทจำเลยบุคคลล้มละลาย ฎีกาโจทก์ในข้อนี้จึงตกไป ส่วนฎีกาจำเลยที่โต้เถียงว่าหนังสือปลดหนี้จำนองตามเอกสารหมาย จ.๔ ยังถือไม่ได้ว่าได้มีสัญญาต่อกันเพราะยังมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาอยู่นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ดูข้อความตามเอกสารหมาย จ.๔ ซึ่งมีข้อความว่า “ส่วนการปลดจำนองจะต้องรอใบมอบอำนาจของนายวิกุล บุรพิพัฒน์ ก่อนจึงทำได้” แล้ว เห็นว่าบริษัทจำเลยเพียงแต่แสดงเจตนาจะปลดจำนองให้เท่านั้น การทำหนังสือปลดจำนองยังมิได้กระทำต่อกัน เพราะการปลดจำนองมีเงื่อนไขอยู่ว่าจะกระทำได้ต้องรอใบมอบอำนาจของนายวิกุล บุรพิพัฒน์ก่อน ดังนั้น การปลดจำนองจึงยังไม่ได้เกิดขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๔๔ (๒) สัญญาจำนองจึงยังไม่ระงับสิ้นไป ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยเรื่องดอกเบี้ย ทั้งโจทก์และจำเลยต่างฎีกาโดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองโดยสุจริตและบริษัทจำเลยด้ทำหนังสือปลดจำนองให้โจทก์แล้ว และสัญญาว่าจะจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้ในภายหลัง แต่กลับผัดผ่อนและบิดพริ้วเรื่อยมา บริษัทจำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้สินอย่างใดที่จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่บริษัทจำเลย จึงไม่มีหน้าที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ส่วนจำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาจำนองตามฟ้องมีข้อกำหนดว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยไว้ด้วย เพียงแต่ไม่ได้กำหนดอัตราไว้เท่านั้น เมื่อในสัญญาจำนองไม่ได้ฆ่าคำว่า “โดยให้ดอกเบี้ย” ไว้ก็แปลว่าต้องเสียดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อยังไม่มีการทวงถามหรือบอกกล่าวบังคับจำนอง จึงไม่สมควรได้รับดอกเบี้ยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๒๒๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ฎีกาของโจทก์จำเลยและเมื่อได้พิจารณาดูฟ้องแย้งของจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระเงินค่าเบี้ยประกันที่โจทก์ค้างชำระอยู่เท่านั้น หาได้ฟ้องร้องบังคับในเรื่องจำนองไม่ จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น และตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระนั้นถึงกำหนดชำระกันเมื่อไร จำเลยเพิ่งจะเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้โดยฟ้องแย้งตามคดีนี้เท่านั้น กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ กล่าวคือหนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ฉะนั้น จำเลยจึงชอบที่จะได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ฎีกาของโจทก์จำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน ๔๙,๘๕๓ บาท ๙๐ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี แก่จำเลยนับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๑๔) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนการปลดหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยโดยมิได้พิพากษาให้เพิกถอนตามคำขอนั้นเป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้เพิกถอนการปลดหนี้ระหว่างโจทก์จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ