แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์นอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษจำเลยภายในราชอาณาจักร ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 นั้น โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบแสดงว่าไม่มีข้อห้ามมิให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 10 อีก(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2505)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 2 คนสมคบกันชิงทรัพย์ของบริษัทไทยยงพาณิชย์ ซึ่งนายกรี เจียกเจิม เป็นผู้จัดการ อยู่ในความดูแลรักษาของนายสมชาย แดงเผือก ไป 16,440 บาท ได้ใช้ปืนขู่จะยิง และใช้ไม้ฆ้องตีนายน้อย พันทะนี ใช้หมัดทำร้ายเด็กชายป๊อดพันทะนี ใช้เชือกมัดนายน้อย นายบุญเลี้ยง และใช้อาวุธปืนยิงเหตุเกิดที่ตำบลหัวเชียง อำเภอเมืองเวียงจันทน์ จังหวัดเวียงจันทน์ ประเทศลาว เจ้าทรัพย์ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานเพื่อขอให้ว่ากล่าวเอาโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลในประเทศลาวที่จำเลยไปกระทำผิดไม่ได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวจำเลยหรือพิพากษาให้ลงโทษและจำเลยได้พ้นโทษไปแล้ว พนักงานสอบสวนอำเภอเมืองหนองคายโดยอนุมัติจากอธิบดีกรมอัยการได้ทำการสอบสวนแล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10, 340 ให้คืนหรือใช้ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 4 จำคุกไว้คนละ20 ปี ให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 3,350 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกัน ตกอยู่ในฐานสงสัย จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาเฉพาะตัวนายกองจำเลย ส่วนนายเนาะหรืออ้วนจำเลยตายเสียก่อนที่โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ที่แตกต่างกันไม่ใช่ข้อสำคัญ ไม่มีข้อสงสัยอย่างใดว่าพยานจะไม่ได้เห็นคนร้าย พยานฐานที่อยู่ของนายกองจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ คดีนี้จำเลยเป็นคนสัญชาติไทยและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ ศาลฎีกาประชุมใหญ่มีมติว่า คดีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 ซึ่งจำเลยจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแสดงว่าไม่มีข้อห้ามมิให้ลงโทษตามมาตรา 10 เพราะจำเลยไม่ได้โต้เถียงและคดีก็ไม่ได้ความว่ามีข้อห้ามมิให้ลงโทษจำเลยเช่นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายกองจำเลยมา
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีสำหรับตัวนายกองจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ