คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่.ไม่ส่งสำนวนและอุทธรณ์ไปให้อธิบดีกรมอัยการพิจารณารับรองตามคำร้องของโจทก์ร่วมนั้น. ผู้อุทธรณ์ต้องทำเป็นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193. และชอบที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำพิพากษามิใช่ทำเป็นคำสั่ง. แต่โดยที่ศาลอุทธรณ์ได้ทำคำสั่งโดยผู้พิพากษาสองนาย เพียงแต่ผิดแบบเฉพาะการทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง.จึง.ไม่จำเป็นที่จะให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่(อ้างฎีกาที่ 1244/2503).
การที่จะให้อธิบดีกรมอัยการรับรองอุทธรณ์นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งอุทธรณ์ไปให้อธิบดีกรมอัยการรับรอง. การรับรองอุทธรณ์เป็นประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์เอง. ผู้อุทธรณ์จึงต้องขวนขวายขอร้องไปยังอธิบดีกรมอัยการเอง. หาใช่อาศัยศาลเป็นเครื่องมือส่งต่อไปยังอธิบดีกรมอัยการไม่.(อ้างฎีกาที่ 656/2506).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องต่อศาลแขวงราชบุรีว่าจำเลยกระทำผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282, 252 ที่แก้ไขแล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษปรับหนึ่งร้อยบาท ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์ร่วมอุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีนี้ลงชื่อรับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ ถ้าหากไม่ลงชื่อรับรองตามที่โจทก์ร่วมร้องขอ ก็ขอให้ส่งคำร้องพร้อมด้วยอุทธรณ์และสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีกรมอัยการพิจารณาลงชื่อรับรองอุทธรณ์แล้วขอให้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่มีปัญหาสำคัญ จึงไม่รับรองให้อุทธรณ์ได้ และที่ขอให้ส่งสำนวนและคำร้องไปยังอธิบดีกรมอัยการ ก็ไม่ใช่หน้าที่ศาลจะทำเช่นนั้น ให้ยกคำร้องและมีคำสั่งในอุทธรณ์ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 2 นาย ทำเป็นคำสั่งว่า การที่จะขอให้อธิบดีกรมอัยการลงชื่อรับรองนั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์ร่วมจะต้องดำเนินการเองศาลชั้นต้นไม่มีหน้าที่เช่นนั้น ให้ยกคำร้อง โจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งสำนวนและอุทธรณ์ไปให้อธิบดีกรมอัยการพิจารณารับรองตามคำร้องของโจทก์ร่วมนั้น ผู้อุทธรณ์ต้องทำเป็นอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 และชอบที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำพิพากษา มิใช่ทำเป็นคำสั่ง แต่โดยที่ศาลอุทธรณ์ได้ทำคำสั่งโดยผู้พิพากษาสองนาย เพียงแต่ผิดแบบเฉพาะการทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง จึงไม่จำเป็นที่จะให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ดังนัยฎีกาที่ 1244/2503 และการที่จะให้อธิบดีกรมอัยการรับรองอุทธรณ์นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งอุทธรณ์ไปให้อธิบดีกรมอัยการรับรอง การรับรองอุทธรณ์เป็นประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์เอง ผู้อุทธรณ์จึงต้องขวนขวายขอร้องไปยังอธิบดีกรมอัยการเอง หาใช่อาศัยศาลเป็นเครื่องมือส่งต่อไปยังอธิบดีกรมอัยการไม่ ดังนัยฎีกาที่ 656/2506 พิพากษายืน.

Share