คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภาระจำยอมจะสิ้นไปก็แต่เมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1397, 1399 และในลักษณะซื้อขายตาม มาตรา 480 ก็ยังบัญญัติว่า “ถ้าอสังหาริมทรัพย์ต้องแสดงว่าตกอยู่ในบังคับแห่งภาระจำยอมโดยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้ขายจะได้รับรองไว้ในสัญญาว่า ทรัพย์นั้นปลอดจากภาระจำยอมอย่างใด ๆ ทั้งสิ้นหรือปลอดจากภาระจำยอมอันนั้น”
ตาม มาตรา 1299 หมายถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพย์สิทธิอันเดียวกันกับสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งมีภาระจำยอมติดอยู่ หาได้สิทธิในภาระจำยอมไปด้วย แต่อย่างไรไม่ สำหรับที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์นั้น ภาระจำยอมที่มีอยู่เป็นแต่การรอนสิทธิตาม มาตรา 480 เท่านั้น ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไปหาได้ไม่
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2502)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนด ๑๗๗๙ อำเภอบางกอกใหญ่ โจทก์และประชาชนในย่านนี้ใช้ที่ดินของผู้อื่นและของจำเลย โฉนดที่ ๑๗๗๓ ซึ่งอยู่ติดต่อกัน เป็นทางเดินผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะมา ๔๐-๕๐ ปีแล้ว เป็นภาระจำยอม จำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่๑๗๗๓ โดยรู้ดีอยู่แล้วว่า ผู้อื่นใช้ทางเดินผ่านกว่า ๑๐ ปี จำเลยล้อมรั้วปิดกั้นทางเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อรั้วเปิดทางเดินตามเดิมให้แสดงว่าทางนี้เป็นภาระจำยอมบังคับให้จำเลยจดทะเบียน
จำเลยต่อสู้ว่า ได้ซื้อที่ดินโดยไม่ปรากฏว่าทางเดินผ่าน จำเลยได้จดทะเบียนซื้อที่ดินโดยสุจริต และชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทมีภาระจำยอม แต่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิแห่งภาระจำยอม โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยรับซื้อโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ทางพิพาทมิใช่ภาระจำยอมทั้งไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยรู้ว่ามีทางภาระจำยอมในที่ดินของจำเลย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในที่ประชุมใหญ่ว่า ภาระจำยอมนั้นหาสิ้นไปไม่ เพราะภาระจำยอมจะสิ้นไป ก็แต่เมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมด หรือมิได้ใช้สิบปีตา ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๙๗, ๑๓๙๙ ในลักษณะซื้อขาย ตามมาตรา ๔๘๐ บัญญัติว่า ถ้าอสังหาริมทรัพย์ต้องแสดงว่าตกอยู่ในบังคับแห่งภาระจำยอมโดยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้ขายจะได้รับรองไว้ในสัญญาว่า ทรัพย์สินนั้นปลอดจากภาระจำยอมอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น หรือปลอดจากภาระจำยอมอันนั้น ด้วยเหตุนี้ บทบัญญัติแห่ง มาตรา ๑๒๙๙ จึงหมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพย์อันเดียวกัน กับสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียน สำหรับผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ในที่ดินหาได้สิทธิในภาระจำยอมไปด้วย แต่อย่างใดไม่หากได้ไปแต่การรอนสิทธิ สำหรับที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์นั้น ภาระจำยอมที่มีอยู่เป็นแต่การรอนสิทธิดังทีระบุไว้ในมาตรา ๔๘๐ เท่านั้น จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริต ขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินสิ้นไปหาได้ไม่ ส่วนข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่า ที่พิพาทตกอยู่ในภาระจำยอม
พิพากษากลับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าที่ดินโฉนดที่ ๑๗๗๓ ตกอยู่ในภาระจำยอม ให้โจทก์และคนของโจทก์เดินผ่านและให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวนี้

Share