คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยาน คงมีบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน และภาพถ่ายการชี้ที่เกิดเหตุของผู้เสียหาย อันเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งในการวินิจฉัยพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ผู้เสียหายมาศาลและเบิกความเป็นพยานโจทก์ประมาณ 10 นาที ผู้เสียหายแถลงว่าจดจำข้อเท็จจริงและเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้เนื่องจากเพิ่งคลอดบุตร ทั้งสองฝ่ายแถลงขอเลื่อนไปสืบพยานปากผู้เสียหายในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาต ครั้นถึงวันนัดผู้เสียหายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อนำตัวมาเป็นพยานหลายนัด แต่ไม่ได้ตัวมา พฤติการณ์ในการหลบหนีและไม่มาเบิกความในชั้นพิจารณาของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี ศาลย่อมรับฟังคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเพื่อลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101 – 1102/2546 และ 1420/2549 ของศาลชั้นต้น ที่พวกของจำเลยถูกฟ้องในการกระทำความผิดเดียวกันนี้ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 276
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำคุก 15 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า นางสาวสุชาสิณี ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับนางอำนวย ที่บ้านพักเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตะโหมด วันที่ 27 มิถุนายน 2543 เวลา 23 นาฬิกา ขณะผู้เสียหายช่วยนางอำนวยขายน้ำชา จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับผู้เสียหายไปร้านยาดองชื่อร้านคนหนำใต้ จากนั้นจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปที่ขนำในสวนยางพารา จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ แล้วมีคนร้ายหลายคนเข้ามาผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้วหลบหนีไป เมื่อผู้เสียหายกลับถึงบ้านได้เล่าให้นางอำนวยฟังว่าถูกจำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา นางอำนวยพาผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายไปให้แพทย์ตรวจร่างกาย แพทย์ระบุว่าผู้เสียหายมีรอยฟกช้ำที่ร่างกาย ที่ช่องคลอดและรูทวารหนักมีบาดแผลฉีกขาด พบสารแอซิดฟอสฟาเตสอันเป็นส่วนประกอบในน้ำอสุจิในช่องคลอด เชื่อว่าผ่านการร่วมประเวณีมา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยกับผู้เสียหายเป็นคนรักกัน จำเลยพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีโดยความยินยอมของผู้เสียหายและไม่มีการขู่เข็ญบังคับ หลังจากจำเลยและผู้เสียหายร่วมประเวณีกันแล้ว เหตุการณ์ที่คนร้ายหลายคนร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่รู้จักกับกลุ่มคนร้ายนั้น โจทก์มีบันทึกคำให้การของผู้เสียหายซึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2543 ว่าเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 เวลา 23.30 ถึง 24.00 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับผู้เสียหายและบอกจะพาไปเลี้ยงส่ง จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปร้านยาดองชื่อร้านคนหนำใต้ โดยมีพวกของจำเลยนั่งอยู่ที่ร้านดังกล่าวก่อนแล้ว 5 ถึง 6 คน จนกระทั่งร้านปิดจำเลยให้ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์บอกว่าจะพาไปส่งบ้าน แต่เมื่อไปถึงหน้าบ้านของนางอำนวย จำเลยกลับขับรถจักรยานยนต์ผ่านไปแล้วพาผู้เสียหายเข้าไปยังขนำที่เกิดเหตุ จำเลยบอกรักผู้เสียหายแล้วดึงมือผู้เสียหายขึ้นไปบนขนำขอร่วมประเวณี เมื่อผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยใช้กำลังปลุกปล้ำ ผู้เสียหายต่อสู้ปัดป้องร้องห้ามและขอร้องว่าอย่าทำ แต่จำเลยไม่สนใจและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ จากนั้นมีพวกของจำเลยมาเรียกจำเลยว่า “บ่าวเหอ” จำเลยตอบรับว่า “ฮือ” พวกของจำเลยซึ่งผู้เสียหายไม่รู้ว่าเป็นผู้ใดเรียกให้จำเลยออกไป จำเลยจึงลุกขึ้นแล้วออกไปจากขนำ ผู้เสียหายยังไม่ได้สวมเสื้อผ้าวิ่งตามจำเลยออกไป พวกของจำเลยผลักผู้เสียหายเข้าไปในขนำ ช่วยกันจับแขนและขาผู้เสียหายแล้วพวกของจำเลยทั้งห้าคน ผลัดกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยกับพวกขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ส่วนผู้เสียหายเดินกลับไปบ้านนางอำนวยและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นางอำนวยฟัง นางอำนวยจึงพาผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และโจทก์มีพันตำรวจเอกชุมพล พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 28 มิถุนายน 2543 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร นางอำนวยพาผู้เสียหายมาแจ้งความ พยานสอบคำให้การผู้เสียหายตามบันทึกคำให้การดังกล่าว เห็นว่า แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยาน คงมีเพียงบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน และภาพถ่ายการชี้ที่เกิดเหตุของผู้เสียหายอันเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งในการวินิจฉัยพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ว่า ในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ผู้เสียหายมาศาลและเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ไปได้ประมาณ 10 นาที ผู้เสียหายแถลงว่าจดจำข้อเท็จจริงและเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้เนื่องจากเพิ่งคลอดบุตรได้ประมาณ 40 วัน ศาลชั้นต้นหารือโจทก์และจำเลยแล้ว ทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่าขอให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหายในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เวลา 13.30 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดผู้เสียหายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีและออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อนำตัวมาเป็นพยานหลายนัด แต่ไม่ได้ตัวมาจนต้องงดสืบพยานปากผู้เสียหาย พฤติการณ์ในการหลบหนีและไม่ยอมมาเบิกความในชั้นพิจารณาของผู้เสียหายดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี ศาลย่อมรับฟังบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเพื่อลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะรับฟังบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101 – 1102/2546 และ 1420/2549 ของศาลชั้นต้นประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายกลับถึงบ้านได้เล่าเหตุการณ์ให้นางอำนวยฟังทันที แล้วจากนั้นไม่นานนางอำนวยพาผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์และให้การต่อพันตำรวจเอกชุมพล พนักงานสอบสวน ผู้เสียหายให้การถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนกระทั่งจำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ระบุยืนยันถึงพฤติการณ์การกระทำของจำเลยกับพวก ตลอดจนสถานที่เกิดเหตุโดยแจ้งชัด และโดยไม่มีเหตุผลใดที่ผู้เสียหายจะต้องกลั่นแกล้งกล่าวหาจำเลย อีกทั้งคำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101 – 1102/2546 และ 1420/2549 ของศาลชั้นต้น ก็ระบุพฤติการณ์การกระทำของจำเลยกับพวกตรงกับที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวน แม้คดีทั้งสามคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามคดีตามลำดับ ก็มิใช่พิพากษายกฟ้องว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องในคดีแรกว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายสรชัยหรือศรชัยหรือสุรชัยหรือชัย และนายสมนึกหรือหรีม ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าวเป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีหลังว่า นายนิกรหรือหรีม ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวมิใช่คนร้ายที่ร่วมกระทำความผิด โดยที่จำเลยเบิกความยอมรับว่าพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราในขนำที่เกิดเหตุจริง คงกล่าวอ้างเพียงว่าผู้เสียหายสมัครใจให้จำเลยร่วมประเวณี และกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่รู้จักกับคนร้ายและไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นกับคนร้ายที่ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ซึ่งต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี ได้ความจากพันตำรวจเอก ชุมพลเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบ้านพักเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตะโหมดประมาณ 7 กิโลเมตร และปรากฏจากแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ว่าขนำที่เกิดเหตุอยู่ในสวนยางพาราเข้าไปตามทางแยกห่างจากถนนประมาณ 150 เมตร ไม่มีแสงไฟฟ้าส่องสว่าง ที่เกิดเหตุจึงเป็นที่เปลี่ยวห่างไกลจากชุมชน ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนซึ่งดึกมากแล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยบอกว่าจะขับรถจักรยานยนต์ไปส่งผู้เสียหายที่บ้านแต่กลับพาผู้เสียหายไปยังขนำที่เกิดเหตุ นอกจากกลุ่มบุคคลที่นั่งดื่มสุราอยู่กับจำเลยแล้วย่อมเป็นการยากที่จะมีบุคคลอื่นรู้เห็นว่าจำเลยจะพาผู้เสียหายไปยังขนำที่เกิดเหตุ หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายยังไม่ทันใส่เสื้อผ้าก็มีคนร้ายเข้ามาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อทันที การกระทำของจำเลยดังกล่าวเชื่อว่าเป็นแผนการที่จำเลยกับพวกร่วมกันคบคิดพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราในที่เกิดเหตุ จึงถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share