แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรภริยาเจ้ามรดกทำสัญญาประนีประนอมให้แบ่งทรัพย์ไปตามพินัยกรรม (พินัยกรรมจะเป็นโมฆะหรือไม่ก็ดี) ส่วนทรัพย์นอกพินัยกรรมให้เป็นของภริยาเจ้ามรดกฝ่ายเดียวสัญญานี้บังคับได้ทุกข้อตลอดจนข้อที่ตกลงกันถึงทรัพย์นอกพินัยกรรมด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายคลิ้ง นางเงี่ยน มีพี่น้องร่วมบิดามารดากัน 4 คน เมื่อมารดาถึงแก่กรรมโจทก์อยู่กับบิดา ต่อมาบิดาได้จำเลยเป็นภรรยาคนที่สอง เกิดบุตรด้วยกัน 5 คน
มารดาโจทก์มีสินเดิม 2 อย่าง คือนา 1 แปลง ที่บ้าน 1 แปลงซึ่งมีเรือนด้วย 3 หลัง รวมราคา 33,000 บาท ตามบัญชีทรัพย์หมาย 1 ท้ายฟ้อง ทรัพย์เหล่านี้บิดายังไม่ได้แบ่ง โจทก์กับบรรดาพี่น้องได้ผลัดเปลี่ยนกันทำกินเสมอมา
เมื่อบิดาโจทก์ได้กับจำเลย ได้ใช้ทรัพย์มารดาโจทก์ก่อให้เกิดสินสมรสหลายอย่าง คือที่นา 4 แปลง กับข้าว 13,000 เรียงตามบัญชีทรัพย์หมาย 2 ท้ายฟ้อง รวมราคาประมาณ 26,000 บาทบิดายังไม่ได้ยกให้แก่ผู้ใด
บิดาโจทก์ถึงแก่กรรม เดือน 10 พ.ศ. 2493 โจทก์ขอแบ่งมรดกจำเลยไม่ให้ จำเลยไปร้องขอรับมรดกต่อกรมการอำเภอเมืองตรังโจทก์ได้คัดค้าน จำเลยได้ฟ้องโจทก์ ๆ ได้ฟ้องแย้ง แต่จำเลยได้ถอนฟ้องโจทก์คัดค้านขอให้พิจารณาตามที่ได้ฟ้องแย้งไว้ แต่ศาลสั่งว่าเมื่อจะดำเนินในทางมรดก ให้โจทก์ฟ้องใหม่ ปรากฏในคดีแพ่งเลขแดงที่ 92/2494 นั้นแล้ว
ที่จำเลยอ้างเหตุในคดีแพ่งแดงที่ 92/2494 ว่าบิดาโจทก์ทำพินัยกรรมไว้ พินัยกรรมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายอย่าง และขณะนั้นบิดาโจทก์มีสติฟั่นเฟือนเพราะความชราแล้ว
โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า
1. พินัยกรรมชื่อนายคลิ้ง รอดทวี (บิดาโจทก์) อยู่ที่จำเลยเป็นโมฆะ
2. ขอให้แบ่งสินเดิมมารดาโจทก์ให้ได้แก่โจทก์ 1 ภาค เป็นเงิน 3,300 บาท เหลือจากนั้นให้เป็นมรดกของนายคลิ้งให้ไปรวมกับทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 2
3. ขอให้แบ่งมรดกบิดาให้แก่ทายาท ซึ่งโจทก์มีส่วนได้อีก 1 ภาค เป็นเงิน 2,600 บาท
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า
1. โจทก์ในฐานะจำเลย ฟ้องแย้งในสำนวนแพ่งแดงที่ 92/2494 แล้ว เป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมาย
2. คดีก่อนโจทก์ถอนฟ้องโดยมีสัญญาประนีประนอมกันนอกศาลแล้วโจทก์ฟ้องอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ถึง 852ตามสัญญานั้น โจทก์ไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่ฟ้องร้องทั้งหมด เว้นแต่ส่วนได้ตามหนังสือพินัยกรรมของเจ้ามรดก
3. หนังสือพินัยกรรมของเจ้ามรดกสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ก็รับรองความสมบูรณ์ไว้ในหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วไม่มีเหตุจะขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ
4. ทรัพย์มรดกนายคลิ้ง มีแต่เฉพาะที่ปรากฏตามหนังสือพินัยกรรม (คือทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย 1) และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายคลิ้งเจ้ามรดก หาใช่สินเดิมของมารดาโจทก์ไม่
5. ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย 2 คือที่นาอันดับ 1 ถึง 4 เป็นสินเดิมของจำเลยไม่ใช่มรดก และว่าอันดับ 4 นั้นเดิมเป็นที่บ้านอันดับ 5 คือข้าว มีรวม 7,000 เรียง เป็นของนางเงื้อม นายรุ่น นางบุญ
6. มารดาโจทก์ไม่มีสินเดิมและสินสมรส ทรัพย์ตามฟ้องไม่ใช่สินเดิมหรือสินสมรสของมารดาโจทก์ มารดาโจทก์หย่าขาดกับนายคลิ้งก่อนได้กับจำเลย แม้จะฟังว่าเป็นสินสมรสของมารดาโจทก์คดีก็ขาดอายุความมรดก โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง
7. ที่โจทก์ฟ้องขอส่วนแบ่งนั้นยังไม่ถูกต้อง แม้จะฟังว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องก็ตาม
ระหว่างพิจารณามีผู้ร้องสอดขอรับส่วนมรดกของนายคลิ้ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 แบ่งเป็น 2 พวกคือ
พวกหนึ่งนางเพื่อม นายเหงื่อม นางบุญ นายรุ่น บุตรนายคลิ้งกับจำเลย และเด็กหญิงก่ำบุตรนางเกลื่อม ๆ เป็นบุตรนายคลิ้งกับจำเลย (นางเกลื่อมตายเด็กหญิงก่ำรับมรดกแทนที่)
พวกหนึ่งนายเกิดบุตรนายคลิ้งกับนางเงี่ยน และนางคล้ายบุตรนางลอย ๆ เป็นบุตรนายคลิ้ง นางเงี่ยน (นางลอยตายนางคล้อยรับมรดกแทนที่)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแยกประเด็นวินิจฉัยเป็น 4 ตอน คือ
1. ว่าด้วยทรัพย์สินที่พิพาท
ก. สำหรับที่นาและที่บ้านพร้อมกับเรือนตามบัญชีทรัพย์หมาย 1 ท้ายฟ้อง ฟ้องว่าหลวงเมืองยกที่นาที่บ้านรายนี้ให้นางเงี่ยน เมื่อนางเงี่ยนได้กับนายคลิ้งแล้ว จึงเป็นสินสมรสระหว่างนายคลิ้งกับนางเงี่ยน หาใช่สินเดิมของนางเงี่ยนไม่
ข. ที่นา 4 แปลงตามบัญชีทรัพย์หมาย 2 ท้ายฟ้อง อันดับ 1 ถึง 4 ฟังว่าเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายคลิ้ง ไม่ใช่สินเดิมของจำเลย
ค. ข้าวพิพาทตามบัญชีทรัพย์หมาย 2 อันดับ 5 ฟังตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า ไม่ใช่มรดกของนายคลิ้ง
2. ว่าด้วยพินัยกรรมของนายคลิ้ง (เอกสารหมาย ล.1) ฟังว่าเป็นพินัยกรรมสมบูรณ์ตามกฎหมาย
3. ว่าด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความ (เอกสารหมาย ล.2) ฟังว่าเมื่อโจทก์จำเลย และนายเกิดพิพาทกันเรื่องมรดกนายคลิ้งที่ศาล (คือคดีแพ่งแดงที่ 92/2494) นั้น ภายหลังได้ทำหนังสือสัญญาตกลงกันให้แบ่งทรัพย์ตามพินัยกรรมของนายคลิ้ง ส่วนทรัพย์นอกพินัยกรรมให้ถือเป็นมรดกตกได้แก่นางผึ้งจำเลยทั้งสิ้น ที่โจทก์กับนายเกิดอ้างว่าสำคัญผิด ในสาระสำคัญแห่งสัญญานั้นฟังไม่ขึ้นข้อตกลงนี้ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 อันมีผลบังคับได้ตามมาตรา 852
4. ว่าด้วยการแบ่งปันทรัพย์มรดก
ก. สำหรับที่นาและที่บ้าน พร้อมทั้งเรือนตามบัญชีทรัพย์หมาย 1 ท้ายฟ้อง คงให้แบ่งกันตามพินัยกรรม (มีรายละเอียดตามพินัยกรรม ซึ่งโจทก์จำเลยและผู้ร้องสอดต่างมีส่วนได้รับอยู่ด้วย)
ข. ที่นาอันดับ 1-2-3-4 ตามบัญชีทรัพย์หมาย 2 ท้ายฟ้องซึ่งศาลฟังว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายคลิ้งกับจำเลยนั้น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ(เอกสารหมาย ล.2) โจทก์กับนายเกิดตกลงให้เป็นส่วนของจำเลยทั้งหมด โจทก์กับนายเกิดจึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่นาดังกล่าว และศาลเห็นสมควรให้แบ่งที่นา 4 แปลงนี้โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน นายคลิ้งได้ 2 ส่วน จำเลยได้ 1 ส่วน(นายคลิ้งและจำเลยเป็นสามีภริยากันก่อน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และต่างไม่มีสินเดิม) ส่วนของนายคลิ้ง 2 ส่วนตกเป็นมรดกต้องแบ่งกันระหว่างทายาท คือแบ่งออกเป็น 7 ส่วน ให้จำเลย นางเพื่อมนายเหงื่อม (หรือเงื่อม) นายบุญ นายรุ่น นางคล้อย และเด็กหญิงก่ำผู้ร้องสอดคนละส่วน
ข้อตัดฟ้องที่ว่าฟ้องซ้ำฟังไม่ขึ้น เพราะคดีนั้นศาลยังไม่ได้ชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี เป็นเรื่องถอนฟ้อง โจทก์จึงฟ้องใหม่ได้ และที่ตัดฟ้องว่า ขาดอายุความมรดกก็ฟังไม่ขึ้นดุจกัน เพราะนายคลิ้งบิดาโจทก์ตายยังไม่ถึงปี และก่อนตายนายคลิ้งครอบครองมรดกแทนบุตรทุกคน
ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทดังคำวินิจฉัยที่กล่าวมาข้างต้น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
นางคลายโจทก์ และนางผึ้งจำเลยอุทธรณ์ อนึ่ง ในท้ายฟ้องอุทธรณ์ของนางคลายโจทก์ นายเกิดผู้ร้องสอดได้ขอให้ถือเอาคำอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อร้องสอดของนายเกิดในชั้นอุทธรณ์ด้วย
ศาลอุทธรณ์คงมีความเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทุกข้อเว้นแต่ข้อว่าด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมายล.2 โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามในเอกสารดังกล่าวข้อ 1-2-3 ที่ให้ถือเอาตามพินัยกรรมของนายคลิ้งเป็นเรื่องต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันในเรื่องที่นางผึ้งฟ้องนางคลายนายเกิดว่ารบกวนกรรมสิทธิ์ แต่ในข้อ 4 ที่ว่าคู่สัญญาตกลงกันเป็นมั่นเหมาะ ว่าทรัพย์สินนอกจากที่กล่าวระบุไว้ในพินัยกรรมของนายคลิ้ง ให้ถือเป็นมรดกตกได้แก่นางผึ้ง(จำเลยในคดีนี้) ทั้งสิ้นผู้ใดจะเข้าเกี่ยวข้องไม่ได้เป็นอันขาดนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน คือนางคลาย นายเกิดผ่อนผันให้ฝ่ายเดียวต่างหากว่าให้ตกได้แก่นางผึ้ง ๆ หาได้ผ่อนผันอะไรให้เป็นการตอบแทนไม่ ซึ่งเจือสมกับพยานโจทก์ที่ว่านางคลายนายเกิดได้สำคัญผิดในสาระสำคัญในสัญญานั้นอยู่ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าข้อประนีประนอมยอมความว่าทรัพย์นอกพินัยกรรมให้ตกได้แก่นางผึ้งผู้เดียวนั้น บังคับตามนั้นไม่ได้ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เพียงให้แบ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมาย 2 อันดับ 1-2-3-4 (สินสมรสระหว่างนายคลิ้งกับจำเลย) เป็น 3 ส่วน ได้แก่จำเลย 1 ส่วนอีก 2 ส่วน เป็นมรดกนายคลิ้งและส่วนที่เป็นมรดกนายคลิ้งแบ่งเป็น 9 ส่วนให้โจทก์จำเลยนายเกิด นางเพื่อม นางเหงื่อม หรือเงื่อม นางบุญนายรุ่น นางคล้อย และเด็กหญิงก่ำผู้ร้องสอดคนละ 1 ส่วน การแบ่งหากไม่ตกลง ให้แบ่งทางประมูลหรือขายทอดตลาด นอกนั้นคงยืนค่าธรรมเนียมทุกฝ่ายให้ชักจากกองมรดก ค่าทนายเป็นพับ
นางคลาย โจทก์ และนางผึ้งจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาได้ความว่า นายคลิ้งกับนางเงี่ยนภริยาคนแรกเกิดบุตรด้วยกันตามที่ปรากฏชื่อ 3 คนคือนายเกิดผู้ร้องสอด นางคลายโจทก์ และนางลอย นางลอยตายมีบุตรคือนางคล้อยผู้ร้องสอด นางเงี่ยนตายมาประมาณ 30 ปีแล้ว นางเงี่ยนตายได้ราว 2-3 ปี นายคลิ้งจึงได้จำเลยเป็นภริยา นายคลิ้งเกิดบุตรด้วยกันกับจำเลย 5 คน คือนางเพื่อมนายเหงื่อม นางบุญนายรุ่น ผู้ร้องสอด และนางเกลื่อม ๆ ตายมีบุตร คือ เด็กหญิงก่ำผู้ร้องสอดนายคลิ้งตายเมื่อเดือน 10 พ.ศ. 2493 เมื่อนายคลิ้งตายแล้วนางผึ้งจำเลยได้ไปขอรับมรดกของนายคลิ้งต่ออำเภออ้างว่านายคลิ้งทำพินัยกรรมไว้ นางคลายโจทก์และนายเกิดไปคัดค้านนางผึ้งจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนางคลายนายเกิดตามสำนวนคดีแดงที่ 92/2494 ให้ถอนคำคัดค้านและอย่าให้รบกวนสิทธิ นางคลาย นายเกิดต่อสู้ว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ กับฟ้องแย้งขอให้แบ่งทรัพย์ตามพินัยกรรม และทรัพย์นอกพินัยกรรมด้วย ในที่สุดนางผึ้งได้ขอถอนฟ้องอ้างว่านางคลายนายเกิดทำสัญญาประนีประนอมกับนางผึ้งนอกศาลแล้ว(คือตามเอกสารหมาย ล.2) ฝ่ายนางคลายนายเกิดคัดค้านว่าสัญญาประนีประนอมทำขึ้นโดยถูกหลอกลวง ขอให้ศาลดำเนินคดีตามฟ้องแย้งต่อไป แต่ศาลคงอนุญาตให้ถอนฟ้องในคดีนั้นได้และไม่รับพิจารณาตามฟ้องแย้งต่อไปหากติดใจก็ให้ดำเนินคดีใหม่โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องทรัพย์ที่พิพาทว่าจะเป็นสินเดิมหรือสินสมรสของใครอย่างไรนั้น ทรัพย์หมายเลข 1 บัญชีท้ายฟ้อง คือที่นากับที่บ้าน (มีเรือนอยู่ 3 หลัง) พยานจำเลยให้การรับสมโจทก์ว่าที่นาที่บ้านนี้เดิมเป็นของหลวงเมืองยกให้นางเงี่ยน แต่พยานโจทก์ยังฟังเอาเป็นแน่นอนไม่ได้ว่ายกให้ก่อนหรือหลังได้กับนายคลิ้ง ที่ศาลทั้งสองฟังว่าเป็นสินสมรสระหว่างนางเงี่ยน นายคลิ้งจึงเป็นการชอบแล้ว ทรัพย์หมายเลข 1 บัญชีท้ายฟ้องนี้ปรากฏว่าอยู่ในพินัยกรรมของนายคลิ้งเจ้ามรดกส่วนทรัพย์หมาย 2 บัญชีท้ายฟ้อง คือที่นารวม 4 แปลงซึ่งจำเลยว่าเป็นสินเดิมของจำเลยนั้น พยานจำเลยคงได้ความแต่ว่าเดิมเป็นของบิดาจำเลย แต่จะตกมาเป็นของจำเลยเมื่อไรอย่างไรนั้นนอกจากตัวจำเลยแล้ว พยานจำเลยอื่นไม่ปรากฏชัด ศาลทั้งสองฟังว่า นาทั้ง 4 นี้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยและนายคลิ้ง จึงเป็นการชอบดุจกัน ส่วนข้าวเปลือกทรัพย์อันดับ 5ที่ศาลทั้งสองฟังว่าไม่ใช่มรดกของนายคลิ้งฝ่ายโจทก์ไม่ติดใจฎีกาขึ้นมา จึงไม่ต้องวินิจฉัย
ต่อไปเห็นสมควรจะวินิจฉัยถึงเรื่องสัญญาประนีประนอมตามเอกสารหมายเลข ล.2 ก่อน จำเลยมีพยานคือ ตัวจำเลย นายประภาสผู้เขียนสัญญา นายอินพยานในสัญญา ให้การรับรองต้องกันว่าสัญญาประนีประนอมรายนี้ทำขึ้นระหว่างนายเกิดและนางคลายโจทก์กับนางผึ้งจำเลยโดยต่างตกลงจะถอนฟ้องคดีที่เป็นความกันเขียนแล้วได้อ่านฟังทั้งสองฝ่ายรับว่าถูกต้อง และต่างได้ลงลายพิมพ์มือ และชื่อไว้ในสัญญาฝ่ายโจทก์คงมีแต่ตัวโจทก์และนายเกิดพี่โจทก์เท่านั้นว่า สัญญานั้นไม่ได้อ่านให้ฟัง มาทราบภายหลังว่าข้อความในสัญญาไม่ตรงกับที่ตกลงกันพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักมั่นคงดีกว่าพยานโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์และนายเกิดกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมกันไว้ตามเอกสารนั้นโดยความสมัครใจ และตามสัญญาข้อ 2 มีความว่า คู่สัญญาตกลงถือว่าพินัยกรรมของนายคลิ้งสมบูรณ์ด้วยเจตนาของนายคลิ้งผู้ตาย และถูกต้องครบถ้วนทุกประการ ข้อ 3 มีความว่า คู่สัญญาตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามเจตน์จำนงของนายคลิ้งดังระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับที่กล่าวในสัญญาข้อ 2 และข้อ 4 มีความว่าคู่สัญญาตกลงกันเป็นมั่นเหมาะว่าทรัพย์สินนอกจากที่กล่าวระบุไว้ในพินัยกรรมของนายคลิ้งนั้น ให้ถือเป็นมรดกตกได้แก่นางผึ้ง รอดทวีทั้งสิ้น ผู้ใดจะเกี่ยวข้องไม่ได้เป็นอันขาด
ตามสัญญาข้อ 3 ประกอบกับข้อ 2 เป็นอันฟังว่า นางคลายโจทก์และนายเกิดยอมตกลงแบ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรมของนายคลิ้งทุกประการ เมื่อเช่นนี้แล้วพินัยกรรมของนายคลิ้งจะสมบูรณ์หรือไม่ก็ตามนางคลายโจทก์และนายเกิดย่อมผูกพันโดยสัญญาประนีประนอมในอันที่จะรับส่วนแบ่งตามพินัยกรรมนั้น ส่วนผู้ร้องสอดซึ่งได้รับส่วนแบ่งในพินัยกรรมด้วย ไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ถือว่าพอใจในส่วนแบ่งที่ได้รับนั้นแล้วฉะนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะจึงเป็นอันไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป
ข้อที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แยกข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมข้อ 4ที่ให้ทรัพย์สินนอกพินัยกรรมตกเป็นของจำเลยทั้งสิ้นว่าบังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า สัญญารายนี้ทำขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทซึ่งทั้งสองฝ่ายฟ้องและฟ้องแย้งกันอยู่โดยต่างจะถอนฟ้องคดีนั้นเพื่อให้เสร็จไป จึงเป็นเรื่องต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันแล้ว ส่วนการจะได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร ย่อมแล้วแต่ความสมัครใจ จะแยกถือว่าสัญญาข้อ 4 บังคับไม่ได้ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หาได้ไม่ เมื่อเช่นนี้ เกี่ยวกับทรัพย์นอกพินักยรรมรายนี้ก็ต้องแบ่งส่วนไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านว่า ควรแบ่งสินสมรสโดยถือว่าจำเลยมีสินเดิมฝ่ายเดียว นายคลิ้งไม่มีสินเดิมก็ดี ที่คัดค้านว่าโจทก์ฟ้องขาดอายุความมรดกก็ดีเห็นว่า ที่ศาลทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดมาชอบแล้ว ไม่มีเหตุควรจะแก้ไข
อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เฉพาะการแบ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมาย 2 อันดับ 1-2-3-4 คงให้แบ่งส่วนไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกนั้นคงยืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ต่างให้เป็นพับกันไป