คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ ส. บุตรผู้ร้อง โดยจำเลยมอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ยื่นคำร้อง แสดงว่ามีเจตนาที่จะซื้อขายหรือโอนสิทธิครอบครองในที่พิพาทโดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 ทวิหาได้มีเจตนาที่จะโอนหรือสละการครอบครองให้ ส. ทันทีไม่ ส. มอบที่ดินให้ผู้ร้องจัดให้ผู้อื่นเช่า เมื่อ ส. ถึงแก่กรรม จำเลยก็มายื่นขอถอน คำขอขายที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานก็อนุญาตให้ถอนได้ แสดงว่าสิทธิ ครอบครองที่พิพาทยังคงเป็นของจำเลยอยู่ แม้ในระหว่างดำเนินการนี้ ส. หรือผู้ร้องจะเป็นผู้ยึดถือที่พิพาท ก็ต้องถือว่าเป็นการยึดถือแทน จำเลยผู้จะขายเท่านั้น

ย่อยาว

เนื่องจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่นาและที่ส่วนรวม 6 แปลงอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องขอให้สั่งปล่อยที่พิพาท ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ปล่อยทรัพย์พิพาท โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาททั้ง 6 แปลงเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว และนายชัยวัฒน์ ฐานานุศักดิ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาล ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2519 จำเลยที่ 2 ขายที่พิพาททั้ง 6 แปลงให้แก่นายสัญชัย ปิตินานนท์ บุตรของผู้ร้อง โดยจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายสัญชัยมาดำเนินการยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมด้วยตนเอง และนายสัญชัยมอบที่ดินให้ผู้ร้องจัดการหาประโยชน์โดยให้ผู้อื่นเช่า ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2519 นายสัญชัยถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถชนกัน จึงยังมิได้มีการจดทะเบียนการโอนเสร็จสิ้น และต่อมาในวันที่ 9 มกราคม 2521 จำเลยที่ 2 จึงขอถอนคำขอขายที่ดินดังกล่าวเสีย คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่พิพาทให้แก่นายสัญชัยบุตรผู้ร้อง แสดงว่าจำเลยที่ 2 และนายสัญชัยมีเจตนาที่จะซื้อขายหรือโอนสิทธิครอบครองในที่พิพาทโดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 2 ซึ่งบัญญัติว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” จำเลยที่ 2 หาได้มีเจตนาที่จะโอนการครอบครองหรือสละการครอบครองให้แก่นายสัญชัยทันทีไม่ ดังจะเห็นได้จากเมื่อนายสัญชัยถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ก็มายื่นขอถอนคำขอขายที่ดินดังกล่าวซึ่งเจ้าพนักงานก็อนุญาตให้ถอนได้ แสดงว่าสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 2 อยู่ แม้ในระหว่างดำเนินการนี้นายสัญชัยหรือผู้ร้องจะเป็นผู้ยึดถือที่พิพาท ก็ต้องถือว่าเป็นการยึดถือแทนจำเลยที่ 2 ผู้จะขายเท่านั้นเมื่อการซื้อขายยังไม่ได้ดำเนินไปจนถึงที่สุดจึงต้องถือว่าที่พิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 2 อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องได้สิทธิครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 ประกอบด้วยมาตรา 1367 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจกท์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share