แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ธนาคารให้กู้เงินคิดดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี มีข้อสัญญาว่าถ้าผิดนัดให้เรียกเบี้ยปรับร้อยละ 6 ต่อปี ดังนี้ ไม่ขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฯไม่เป็นโมฆะ ศาลลดลงเป็นให้ชำระร้อยละ 3 ได้
หนังสือรับสภาพหนี้ขอผ่อนชำระ และเจ้าหนี้อนุมัติ ไม่มีการเปลี่ยนสารสำคัญแห่งหนี้ไม่เป็นการแปลงหนี้ จำนองไม่ระงับ
หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ที่ห้างกู้เงินผู้จำนองประกันหนี้ของห้างไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างต้องบังคับชำระหนี้เงินกู้ก่อน จึงจะบังคับหนี้จำนองอันเป็นอุปกรณ์
บรรยายฟ้องเรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ ตอนท้ายอ้างบันทึกรับสภาพหนี้ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงให้ชัดขึ้นไม่ขัดแย้งไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 กู้เงินธนาคารโจทก์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม โจทก์เก็บค่าวิเคราะห์โครงการ 2,000 บาท ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี ถ้าชำระหนี้ไม่ตรงเวลายอมให้เบี้ยปรับร้อยละ 6 ต่อปี จำเลยที่ 2, จำเลยที่ 3 ต่างจำนองที่ดินคนละแปลง จำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้ขอผ่อนชำระโดยโจทก์อนุมัติ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามฟ้อง 185,454.27 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท กับเบี้ยปรับร้อยละ 6 ต่อปีในต้นเงิน 120,000 บาท กับดอกเบี้ยค้าง 25,520.89 บาท นับแต่วันฟ้อง หากไม่ชำระให้บังคับจำนอง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นโมฆะสัญญาจำนองมิได้ระบุว่าเป็นลูกหนี้ร่วม จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกันพิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1, 2 ร่วมกันใช้เงิน 197,620.89 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปีในต้นเงิน 120,000 บาทตั้งแต่วันฟ้อง หากจำเลยที่ 1, 2 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 25,500 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ประเด็นแรก จำเลยฎีกาว่าตามคำฟ้องตอนแรกโจทก์อาศัยหนังสือสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นหลักแห่งข้ออ้างแต่ตอนท้ายคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามตกลงรับสภาพหนี้และขอผ่อนชำระหนี้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.13 เป็นหลักแห่งข้ออ้างอีก ไม่แน่ชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยหลักแห่งข้อหาตามสัญญาฉบับใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมพิเคราะห์ฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.8 เป็นหลักแห่งข้ออ้างที่บรรยายฟ้องถึงเรื่องที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้และขอผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.13 นั้น เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นชัดเจนขึ้น จึงไม่ขัดแย้งกันแต่ประการใด ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อ 2 ในข้อนี้จำเลยฎีกาว่า หนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.8 ได้มีการแปลงหนี้มาเป็นหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และขอผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.13 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.8 จึงระงับไป โจทก์จะฟ้องจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8 ไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้และขอผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.13 ไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่เพราะไม่มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือสารสำคัญแห่งหนี้ หนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.8 จึงยังไม่ระงับและสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.9 จ.5 จ.6 และ จ.7 ยังไม่สิ้นผลเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ และโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองตามเอกสารหมาย จ.16 แล้ว จำเลยไม่ชำระกลับเสนอขอผ่อนชำระหนี้อีกตามเอกสารหมาย จ.14 โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อนุมัติตามที่จำเลยเสนอหรือไม่ ทั้งโจทก์ก็ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองอีกตามเอกสารหมาย จ.20 ดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยฎีกาอีกว่าคำบอกกล่าวบังคับจำนองตามเอกสารหมาย จ.20 ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารหมาย จ.20 มีข้อความบอกกล่าวบังคับจำนองชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 แล้ว ฎีกาจำเลยในข้อนี้ตกไป” ฯลฯ
“ประเด็นข้อ 4. โจทก์ฎีกาว่า เบี้ยปรับตามสัญญากู้ข้อ 5 หาใช่ดอกเบี้ยเพราะการกู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นกรณีพิเศษ มีอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษคือเพียงร้อยละ 9 ต่อปี โดยมีเงื่อนไขกันว่า จำเลยที่ 1 ผู้กู้ต้องชำระหนี้ให้ตรงกำหนดเวลาที่ได้สัญญาทุกประการ หากผิดนัดก็จะเสียเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปีให้ธนาคารโจทก์ จะเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาได้ก็เพราะเหตุมีการผิดสัญญาจึงจะฟังว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยเพิ่มไม่ได้ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นโมฆะนั้นจึงหาชอบไม่ จำเลยต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่มีต่อกัน พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญากู้ข้อ 5 ว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามงวด ยอมเสียเบี้ยปรับให้ไม่เกินร้อยละ6 ต่อปีในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้าง เห็นได้ว่าเบี้ยปรับดังกล่าวจะต้องเสียต่อเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ใช้เงินที่กู้และดอกเบี้ยให้ตรงตามเวลาในสัญญาอันทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้ามีผลบังคับได้ กรณีไม่ใช่เรื่องโจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยลงวันที่ 31 มีนาคม 2509 ออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ข้อ 4(จ) ดังความเห็นของศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องมาร้อยละ 6 ต่อปีในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างนั้นสูงเกินไป สมควรลดเหลือร้อยละ 3 ต่อปีของต้นเงิน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น” ฯลฯ
“ประเด็นข้อ 7. โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมกันทุกจำนวนจนกว่าจะครบตามจำนวนที่เป็นหนี้อยู่ การที่ศาลอุทธรณ์แยกความรับผิดของจำเลยจึงเป็นการคลาดเคลื่อน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเท่านั้นที่จะต้องรับผิดร่วมกันในหนี้เงินกู้ตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้จะรับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จำนองหาต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้เงินกู้ดังโจทก์ฎีกาไม่ เพราะการบังคับชำระหนี้ต้องเป็นไปตามลำดับ กล่าวคือต้องบังคับให้ชำระหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานก่อน เมื่อการชำระหนี้ประธานไม่สามารถบังคับได้แล้ว จึงจะบังคับหนี้จำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อ 8. โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้บังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยคงพิพากษาให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้น ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องโดยมิได้พิพากษาว่าให้บังคับเอาจากทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เป็นการถูกต้องแล้ว เพราะจำเลยที่ 1 มิได้มีฐานะเป็นผู้จำนองเหมือนดังจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ซึ่งตามสัญญาจำนองจำเลยทั้งสองยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจนครบถ้วนจำนวนหนี้ตามสัญญากู้ยืม เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 ได้ในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติแต่ประการใด ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นสุดท้าย จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในเรื่องค่าธรรมเนียมไม่เหมาะสม ควรจะพิพากษาให้ค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นศาลอุทธรณ์เป็นพับหรือลดหย่อนลงมา พิเคราะห์แล้ว เมื่อได้คำนึงการดำเนินคดีของโจทก์แล้วก็เห็นว่าเป็นไปด้วยความสุจริตและค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลล่างแต่ละศาลได้กำหนดให้จำเลยเสียแก่โจทก์มานั้นเหมาะสมดีแล้วฎีกาจำเลยในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 147,620บาท 89 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปีในต้นเงิน 120,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จ และให้ร่วมกันชำระเบี้ยปรับร้อยละ 3 ต่อปีในต้นเงิน 120,000 บาทนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2511 จนกว่าชำระเงินเสร็จหากไม่ชำระให้บังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่นำมาจำนองโดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้บังคับจำนองในวงเงิน 94,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และจำเลยที่ 3 ให้บังคับจำนองในวงเงิน 25,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ถ้าได้เงินไม่พอชำระให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”