คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 799/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นได้สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเมื่อเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ได้แล้ว ได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีและให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงไว้ชัดเจนแล้ว แม้จะได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นสอบคู่ความแล้ว มีคำสั่งให้งดชี้สองสถาน แล้ววินิจฉัยไปในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับเดียวกันว่า โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์ตามฟ้องแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลยหมายเลข 2 ซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องโดยระบุให้เรียกคู่สัญญาในหนังสือดังกล่าวระหว่างโจทก์กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสวรรค์วิถี นครสวรรค์ ว่า “ผู้โอน” และ “ผู้รับโอน” ตามลำดับ เนื้อหาภายในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้โอนซึ่งเป็นผู้ให้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขอโอนสิทธิการรับค่าเช่าจากจำเลยตามสัญญาเช่าในแต่ละเดือนให้แก่ผู้รับโอนเป็นผู้รับเงินจำนวนดังกล่าว โดยผู้โอนขอรับรองว่า ผู้รับโอนมีสิทธิสมบูรณ์เสมือนผู้โอนทุกประการ ทั้งมีการแจ้งการโอนเป็นหนังสือให้แก่จำเลยและจำเลยได้ตอบรับเป็นหนังสือ ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 แผ่นที่ 2, 3 และเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ตามลำดับ หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวลงวันที่ 29 มิถุนายน 2538 โอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าที่ดินตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ซึ่งก็คือสัญญาเช่าที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนั่นเอง จึงถือว่าโจทก์และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 บัญญัติไว้แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการรับเงินค่าเช่าจึงตกเป็นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่นั้นหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเงินค่าเช่าแทนโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเช่าแก่โจทก์
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปในรายงานกระบวนพิจารณาไม่ใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี เพราะไม่ได้ทำในรูปของคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเมื่อเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ได้แล้ว จึงได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แล้ว ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีและให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงไว้ชัดเจนแล้ว แม้จะได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share