คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7988/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้กล่าวหาร้องเรียนว่าผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเป็นทนายความและเรียกรับเงินจากผู้กล่าวหาประมาณ 7,000 บาท เพื่อจะนำไปให้พนักงานอัยการจังหวัดเดชอุดม เพื่อช่วยเหลือทางคดีแก่ ย. บุตรของผู้กล่าวหา กรณีดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยที่มิได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลจำต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อหาข้อเท็จจริงก่อน การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเดชอุดมสอบถามปากคำผู้กล่าวหาแล้วนำคำบอกเล่าดังกล่าวมารับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่ปรากฏว่าผู้กล่าวหาได้สาบานตนหรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 112 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาฎีกาโต้เถียงทำนองว่า ถ้อยคำของผู้กล่าวหาฟังไม่ได้ โดยอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาในฐานะเสมียนทนายความเรียกเงินจากผู้กล่าวหาสืบเนื่องจาก ส. ทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาไปเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจากผู้กล่าวหา โดยไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล และไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดี ดังนี้ ถ้อยคำของผู้กล่าวหาจึงรับฟังเป็นความจริงยังไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นได้ไต่สวน ท. และ ข. ก็ตาม แต่ ท. และ ข. มิใช่ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ปัญหาว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ถูกกล่าวหามิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 นางสาวทิวาภรณ์นิติกรงานประชาสัมพันธ์และบริการประชาชน สำนักงานประจำศาลจังหวัดเดชอุดม รายงานต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเดชอุดมว่า นางน้ำพองผู้กล่าวหามารดาของนายยุทธพงษ์ผู้ต้องหาในคดีหมายเลขดำที่ ฝ.119/2549 ร้องเรียนว่าผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเป็นทนายความและเรียกรับเงินจากผู้กล่าวหาประมาณ 7,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำเงินไปให้พนักงานอัยการจังหวัดเดชอุดมเพื่อช่วยเหลือทางคดีแก่นายยุทธพงษ์และยังมีบุคคลอื่นร้องเรียนว่า ผู้ถูกกล่าวหาเรียกเงินในการดำเนินคดีขอจัดการมรดกเป็นเงิน 40,000 บาท และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ผู้ถูกกล่าวหามาศาลและสอบถามนางสาวทิวาภรณ์เกี่ยวกับหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราว นางสาวทิวาภรณ์สอบถามผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นทนายความหรือไม่ ผู้ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้เป็นทนายความ เป็นเพียงผู้รับมอบฉันทะเท่านั้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนนางสาวทิวาภรณ์และนายเขิงแล้ว เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเป็นทนายความเรียกเงินจากนายเขิง คู่ความซึ่งมีข้อพิพาทที่ศาลจังหวัดเดชอุดม และเรียกเงินจากผู้กล่าวหา มารดาของนายยุทธพงษ์จำเลยซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดเดชอุดม โดยอ้างว่าจะนำเงินไปให้พนักงานอัยการจังหวัดเดชอุดมและเรียกรับเงินจากผู้กล่าวหาจำนวน 1,000 บาท ที่บริเวณโต๊ะตั้งเครื่องพิมพ์ดีดหน้าห้องฝ่ายธุรการคดี และผู้ถูกกล่าวหาแจ้งเท็จต่อนางสาวทิวาภรณ์ว่าเป็นทนายความ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นทนายความ อันเป็นการแสดงตนให้เจ้าพนักงานศาลและประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นทนายความ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จำคุก 3 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ 3 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีที่นางสาวทิวาภรณ์นิติกรงานประชาสัมพันธ์และบริการประชาชน สำนักงานประจำศาลจังหวัดเดชอุดมรายงานต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเดชอุดมว่า ผู้กล่าวหาร้องเรียนว่าผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเป็นทนายความและเรียกรับเงินจากผู้กล่าวหาประมาณ 7,000 บาท เพื่อจะนำไปให้พนักงานอัยการจังหวัดเดชอุดม เพื่อให้ช่วยเหลือทางคดีแก่นายยุทธพงษ์ บุตรของผู้กล่าวหา เป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยที่มิได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลจำต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อหาข้อเท็จจริงก่อน การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเดชอุดมสอบถามปากคำผู้กล่าวหาแล้วนำคำบอกเล่าดังกล่าวมารับฟังโทษผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่ปรากฏว่าผู้กล่าวหาได้สาบานตนหรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาฎีกาโต้เถียงทำนองว่าถ้อยคำของผู้กล่าวหาฟังไม่ได้ โดยอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาในฐานะเสมียนทนายความเรียกเงินจากผู้กล่าวหาสืบเนื่องจากนายสันทัดทนายความ ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจากผู้กล่าวหา โดยไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล และไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดี ดังนี้ ถ้อยคำของผู้กล่าวหาจึงรับฟังเป็นความจริงยังไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนนางสาวทิวภรณ์ และนายเขิง แต่นางสาวทิวาภรณ์และนายเขิง มิใช่ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ปัญหาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ถูกกล่าวหามิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนผู้กล่าวหา แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share