คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 798/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 คำว่า “ค่าใช้ที่ดิน” แตกต่างกับคำว่า “ราคาที่ดิน ” การกำหนดค่าใช้ที่ดินจะอาศัยราคาที่ดินเป็นประมาณมิได้ เพราะมิใช่เป็นการซื้อขายที่ดินกัน หากแต่จะต้องพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
จำเลยปลูกตึกแถวสูง 5 – 6 ชั้นลงในที่ดินจำเลย แม้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพียง 3/10 ตารางวา แต่เป็นอาคารที่มีความมั่นคงถาวรมากและตั้งอยู่ในย่านการค้า ศาลกำหนดค่าใช้ที่ดินให้ 100,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดคนละแปลงซึ่งมีเขตติดต่อกัน จำเลยได้ให้นายเกียรติสร้างอาคารตึกแถว ๕-๖ ชั้นในที่ดินของจำเลย และได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีคดีพิพาทกับโจทก์ ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาแล้วว่า อาคารของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ๓/๑๐ ตารางวา แต่ไม่พอฟังว่าจำเลยกับพวกไม่สุจริต ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยยอมให้เงินโจทก์เป็นค่าใช้ทีดิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ที่ดินของโจทก์จำเลยอยู่ในย่านการค้าในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถก่อสร้างอาคารพาณิชย์ได้เป็นเวลา ๕ ปี โจทก์คิดค่าขาดประโยชน์ ๕ ปี ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ที่ดินและค่าขาดประโยชน์รายการละ ๑๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะไปถอนฟ้อง จำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์ โจทก์เรียกค่าใช้ที่ดินและค่าเสียหายเกินความจริง ฟ้องเคลือบคลุมคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ ๑๓๗,๕๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยชำระค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ ๑๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยชำระค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ๓/๑๐ ตารางวา โดยไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริต แล้ววินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ ค่าเสียหายที่โจทก์จะพึงได้ในกรณีเช่นนี้ก็คือค่าใช้ที่ดิน คำว่า “ค่าใช้ที่ดิน” แตกต่างกับคำว่า “ราคาที่ดิน” การกำหนดให้จำเลยเสียเงินแก่โจทก์เป็นใช้ที่ดินจึงจะอาศัยราคาที่ดินเป็นประมาณมิได้ เพราะมิใช่เป็นกรณีซื้อขายที่ดินกัน หากแต่จะต้องพิจารณาพฤติการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เช่นสภาพและทำเลของที่ดิน การขาดประโยชน์จากการใช้สอยที่ดินของโจทก์มีมากน้อยเพียงใด ประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการใช้ที่ดินของโจทก์มีมากน้อยเพียงใด และอาคารที่จำเลยปลูกรุกล้ำมีความมั่นคงถาวรเพียงใด จำเลยปลูกตึกแถวสูง ๕ – ๖ ชั้นลงในที่ดินของจำเลย แต่บางส่วนของอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แม้จะมีเนื้อที่เพียง ๓/๑๐ ตารางวา แต่อาคารดังกล่าวมีความมั่นคงถาวรเป็นอย่างมาก และปลูกสร้างลงในย่านการค้าภายในเขตเทศบาล ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าใช้ที่ดินให้จำเลยชำระแก่โจทก์ ๑๐๐,๐๐๐ บาทจึงพอสมควรแล้ว
พิพากษายืน

Share