แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้นำไปส่งที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ระหว่างการขนส่งจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อขับรถด้วยความเร็วเกินสมควรแล่นเข้าทางโค้งที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งหักข้อศอกโดยไม่ระมัดระวังจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำวัตถุระเบิดซึ่งบรรทุกมาตกกระจายอยู่บนพื้นถนน หลังจากนั้นมีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมหลายร้อยคน และทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย การกระทำของชาวบ้านที่ทำให้เกิดระเบิดขึ้นเช่นนี้เป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้เพราะเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวง ก็จะมีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงรวมทั้งประชาชนที่ใช้ยวดยานสัญจรผ่านที่เกิดเหตุจะหยุดรถลงไปมุงดูเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งอาจมีคนไม่ดีซึ่งปะปนอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นถือโอกาสหยิบฉวยเอาทรัพย์สินสิ่งของที่ตกหล่นไปได้ ทั้งการขนส่งวัตถุระเบิดครั้งนี้ก็มิได้จัดให้มีป้ายข้อความว่า “วัตถุระเบิด” ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลังรถบรรทุกวัตถุระเบิดคันเกิดเหตุด้วย จึงต้องถือว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นผลใกล้ชิดสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากการขับรถโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 4 ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุระเบิดในขณะเกิดเหตุวัตถุระเบิดดังกล่าวระเบิดขึ้น วัตถุระเบิดที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองดังกล่าวเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้มีไว้ในครอบครองต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสามผู้เสียหายเอง
รถบรรทุกที่ใช้บรรทุกระเบิดดังกล่าวไม่ได้มีการจัดให้มีป้ายข้อความว่า “วัตถุระเบิด” ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลัง และไม่ได้ติดแถบสะท้อนแสงสีแดงสลับขาวในแนวเส้นทะแยงมุมที่ท้ายรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2522) ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 และมาตรา 17 วรรคสอง อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ทำการฝ่าฝืนนั้นเป็นผู้ผิด หากจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วชาวบ้านที่เห็นข้อความเตือนภัยดังกล่าวก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนหรือแม้จะเข้ามายุ่งเกี่ยวก็อาจใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เกิดเหตุระเบิดขึ้นก็ได้ เมื่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภัยพิบัติที่อาจป้องกันได้ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองวัตถุระเบิดมิได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เพื่อป้องกันมิให้ชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวและทำให้เกิดการระเบิดขึ้น การที่ภายหลังจากรถบรรทุกระเบิดพลิกคว่ำและมีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนเป็นเหตุให้เกิดมีการระเบิดขึ้นทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามเสียหาย จึงมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย และชาวบ้านที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดอันเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ทั้งสาม จึงถือไม่ได้ว่าการระเบิดเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสามเอง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2538 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 และศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสามสำนวนนี้โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์สำนวนที่สามว่าโจทก์ที่ 3 กับเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทั้งสามสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 4 สำนวนที่สามว่าจำเลยที่ 4
โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำนวน 651,546.21 บาท 348,525.27 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 4 โดยนายแปลกและนางคำร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 4,601,566.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นแต่ละจำนวน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขอให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 538,084.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 498,585.50 บาท นับถัดจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ โจทก์ที่ 2 จำนวน 215,205.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ที่ 3 จำนวน 2,416,742.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 2,193,760 บาท นับถัดจากวันที่ 23 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รายละ 20,000 บาท 10,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละรายชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและนำเข้าวัตถุระเบิดประเภทแก๊ปหรือเชื้อประทุจำนวน 1,350,000 ดอก บรรจุในลังไม้ 1,180 ลัง จากประเทศอินเดียมาขึ้นที่ท่าเรือจังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างและแต่งตั้งให้บริษัทปักษ์ใต้ขนส่งทางทะเล จำกัด เป็นตัวแทนดำเนินพิธีการทางศุลกากรในการนำเข้าและขนย้ายวัตถุระเบิดดังกล่าวจากท่าเรือจังหวัดภูเก็ตไปส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ที่คลังสินค้าจังหวัดสระบุรี จำเลยที่ 1 ติดต่อประสานงานให้รถตำรวจทางหลวงนำขบวนรถบรรทุกวัตถุระเบิด ซึ่งประกอบด้วยรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงคันเกิดเหตุหมายเลขทะเบียน 70 – 0311 ภูเก็ต และหมายเลขทะเบียน 70 – 0312 ภูเก็ต ของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นคนขับ 1 คัน และรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70 – 0334 ภูเก็ต ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีนายสันทัด อ่วมเถื่อน พนักงานของจำเลยที่ 1 นั่งไปด้วยอีก 1 คัน เมื่อขบวนรถบรรทุกวัตถุระเบิดดังกล่าวแล่นไปถึงทางโค้งบริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 15.30 นาฬิกา รถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 4 เป็นคนขับเกิดเสียหลักตะแคงลงกับพึ้นถนนทำให้ลังบรรจุวัตถุระเบิดจำนวนหนึ่งกระเด็นตกจากรถ และต่อมาวัตถุระเบิดดังกล่าวเกิดการระเบิดขึ้นเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ จำเลยที่ 4 และชาวบ้านที่มามุงดูเหตุการณ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และยังทำให้อาคารสถานที่ราชการ บ้านพักข้าราชการและพัสดุครุภัณฑ์ของโจทก์ทั้งสามเสียหายหลายรายการ และข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งคู่ความทุกฝ่ายมิได้ฎีกาหรือแก้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นอีกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อและนำเข้ามาซึ่งวัตถุระเบิดและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุระเบิดในขณะที่เกิดเหตุการระเบิดดังกล่าวด้วย อีกทั้งได้ความจากคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้อุทธรณ์โต้เถียงฟังได้เป็นยุติด้วยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมรับจ้างขนส่ง นำรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงคันเกิดเหตุไปบรรทุกวัตถุระเบิดและให้จำเลยที่ 4 ขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงดังกล่าวบรรทุกวัตถุระเบิดไปส่งยังคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุ วัตถุระเบิดดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการขนส่งซึ่งถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันครอบครองวัตถุระเบิดดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ด้วย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวนหรือไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องทั้งสามสำนวนในสภาพแห่งข้อหาฐานละเมิดโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 สั่งนำเข้าวัตถุระเบิดประเภทแก๊ปจากประเทศอินเดียมาขึ้นที่ท่าเรือจังหวัดภูเก็ต แล้วว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันขนส่งวัตถุระเบิดดังกล่าวไปส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสระบุรี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงรับจ้างและจัดให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำหน้าขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงบรรทุกวัตถุระเบิดไปส่งให้ในทางการที่จ้างโดยมีตัวแทนของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมการขนส่ง ระหว่างทางจำเลยที่ 4 ขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงโดยประมาทพลิกคว่ำทำให้วัตถุระเบิดซึ่งบรรทุกมาตกหล่นแตกกระจาย และต่อมาวัตถุระเบิดบางส่วนเกิดระเบิดขึ้นทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยคดีตามประเด็นพิพาทว่า เมื่อขบวนรถแล่นมาถึงบริเวณทางโค้งทุ่งมะพร้าว หมู่ที่ 1 ตำบลท้ายเหมือง จังหวัดพังงา รถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงที่จำเลยที่ 4 ขับเกิดเสียหลักพลิกตะแคงลงขวางถนนขณะเข้าโค้ง เนื่องจากความประมาทของจำเลยที่ 4 ที่ขับรถเข้าทางโค้งที่เกิดเหตุซึ่งเป็นโค้งหักข้อศอกด้วยความเร็วเกินสมควรและไม่ระมัดระวังจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมรถพ่วงได้ ทำให้รถพ่วงเสียหลักและพลิกตะแคงเป็นเหตุให้ลังบรรจุแก๊ปที่บรรทุกมาในรถพ่วงหล่นลงบนถนน ซึ่งความข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์โต้แย้ง แต่จำเลยที่ 1 ยังติดใจอุทธรณ์โต้เถียงอยู่ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็หาได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ กลับวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่รถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงคันที่จำเลยที่ 4 ขับพลิกคว่ำแล้ว มีชาวบ้านนับร้อยคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนน โดยไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่ฟังคำห้ามปรามของเจ้าหน้าที่และนายสันทัดพนักงานของจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายอย่างรวดเร็วฉับพลัน จำเลยที่ 1 ไม่อาจป้องกันหรือควบคุมมิให้เกิดระเบิดขึ้นได้ ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผู้ครอบครองวัตถุระเบิดดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เหตุระเบิดเกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกระทำให้เกิดระเบิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 4 ขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงที่บรรทุกวัตถุระเบิดพลิกคว่ำดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงมาก็ตาม แต่การกระทำของชาวบ้านที่ทำให้เกิดระเบิดขึ้นเช่นนี้ก็เป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ 4 ขับรถบรรทุกระเบิดพลิกคว่ำและนับว่าเป็นเหตุแทรกแซงที่ก่อให้เกิดผลบั้นปลายขึ้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเหตุแทรกแซงเช่นว่านี้เป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวง ก็จะมีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงรวมทั้งประชาชนที่ใช้ยวดยานสัญจรผ่านที่เกิดเหตุจะหยุดรถลงไปมุงดูเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งอาจมีคนไม่ดีซึ่งปะปนอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นถือโอกาสหยิบฉวยเอาทรัพย์สินสิ่งของที่ตกหล่นไปได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจากการที่คู่ความนำสืบรับกันด้วยว่า จำเลยทั้งสี่ผู้ครอบครองและขนส่งวัตถุระเบิดก็มิได้จัดให้มีป้ายข้อความว่า “วัตถุระเบิด” ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลังของรถบรรทุกวัตถุระเบิดคันเกิดเหตุด้วย จึงต้องถือว่าการที่ภายหลังจากรถซึ่งบรรทุกวัตถุระเบิดพลิกคว่ำแล้ว มีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดและเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้นเช่นนี้เป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น จึงต้องถือว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลใกล้ชิดสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากการขับรถพลิกคว่ำของจำเลยที่ 4 ซึ่งเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ต่อไปในข้อที่ว่า เหตุที่รถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงซึ่งบรรทุกวัตถุระเบิดพลิกคว่ำเกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ 4 หรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้วินิจฉัยมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยก่อนแต่อย่างใด เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์จึงประกอบชอบด้วยเหตุผลรับฟังเชื่อถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ขับรถลากและรถพ่วงคันเกิดเหตุในขณะเข้าโค้งด้วยอัตราความเร็วดังกล่าวจริง ซึ่งเป็นอัตราความเร็วค่อนข้างสูง ทั้ง ๆ ที่เป็นทางโค้งหักข้อศอก ทำให้จำเลยที่ 4 ไม่สามารถควบคุมรถพ่วงได้ เป็นเหตุให้รถพ่วงเสียหลัก ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถเข้าทางโค้งตามภาวะและวิสัยของผู้ขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดจะพึงต้องใช้ในพฤติการณ์เช่นนี้ แต่จำเลยที่ 4 ก็หาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นไม่ การที่รถลากและรถพ่วงซึ่งบรรทุกวัตถุระเบิดพลิกคว่ำจึงเกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ 4 เมื่อผลบั้นปลายคือการที่มีชาวบ้านเข้ามาเก็บวัตถุระเบิดที่ตกกระจายแล้วเกิดการระเบิดขึ้นเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเป็นผลใกล้ชิดสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 4 ขับรถพลิกคว่ำดังที่ได้วินิจฉัยมาในประเด็นก่อน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 4 ขับรถลากและรถพ่วงคันเกิดเหตุในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 4 ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ทั้งสามยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุระเบิดซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพนั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับฟังมาและจำเลยที่ 1 มิได้แก้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุระเบิดนั้นในขณะเกิดเหตุ กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 437 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายซึ่งเกิดแต่ทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพเช่นว่านั้น เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง คดีนี้โจทก์ทั้งสามเป็นหน่วยงานของรัฐและจากข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าชาวบ้านที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้นนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทั้งสามเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ทั้งสามและกระทำให้เกิดการระเบิดขึ้น จึงถือไม่ได้ว่าการระเบิดเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสามผู้ต้องเสียหายนั้นเอง คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามเพียงว่า การระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ สำหรับปัญหาข้อนี้ ป.พ.พ. มาตรา 8 ได้กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น คดีนี้คู่ความนำสืบรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสี่ผู้ครอบครองและขนส่งวัตถุระเบิดมิได้จัดให้มีป้ายข้อความว่า “วัตถุระเบิด” ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลังของรถบรรทุกวัตถุระเบิดคันเกิดเหตุ ซึ่งนอกจากจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2522) ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 และมาตรา 17 วรรคสอง ที่กำหนดให้รถที่ใช้บรรทุกวัตถุระเบิดต้องจัดให้มีป้ายที่มีข้อความว่า “วัตถุระเบิด” ป้ายต้องเป็นสีขาวใช้ตัวอักษรสีแดงติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านหลังของรถในลักษณะที่เห็นได้ง่ายตลอดเวลาที่บรรทุกวัตถุดังกล่าว ส่วนท้ายรถที่ใช้บรรทุกวัตถุระเบิดก็ต้องมีแถบสะท้อนแสงสีแดงสลับขาว อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ซึ่งเข้าเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 422 ที่กฎหมายบัญญัติว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยทั้งสี่ผู้ทำการฝ่าฝืนกฎหมายเช่นนี้เป็นผู้ผิดแล้ว ยังถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มิได้จัดการขนส่งวัตถุระเบิดด้วยความระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะหากจำเลยทั้งสี่จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรด้วยการปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ชาวบ้านที่เข้ามายุ่งเกี่ยวเมื่อเห็นข้อความเตือนภัยดังกล่าวก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแม้จะเข้ามายุ่งเกี่ยวก็อาจใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เกิดเหตุระเบิดขึ้นก็ได้ เมื่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภัยพิบัติที่อาจป้องกันได้ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองวัตถุระเบิดซึ่งจัดเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ มิได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เพื่อป้องกันมิให้ชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวและทำให้เกิดการระเบิดขึ้น กรณีจึงต้องถือว่าการที่ภายหลังจากรถลากและรถพ่วงที่บรรทุกระเบิดพลิกคว่ำ และมีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนน เป็นเหตุให้เกิดมีการระเบิดขึ้นทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามเสียหายนั้น มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุระเบิดในขณะเกิดเหตุจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เหตุระเบิดเกิดแต่เหตุสุดวิสัยและพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ.