แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยรับปากว่าจะคืนเงินค่าหุ้นให้โจทก์ แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่คืนเงินให้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ในข้อหายักยอกเงินค่าหุ้นต่อศาลแขวง และศาลยกฟ้องถือไม่ได้ว่าเป็นการทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ อันจะนำมาคำนวณคิดดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดได้ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เรียกให้จำเลยชำระเงินคืน ย่อมถือว่าโจทก์ได้ทวงถาม ให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระ ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัด นับแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2530 โจทก์กับจำเลยร่วมลงทุนคนละ 500,000 บาท เพื่อขยายกิจการร้านขายรถจักรยานยนต์ ชื่อร้านก.มอเตอร์ไบค์ ของจำเลย เนื่องจากโจทก์ทำงานอยู่ต่างประเทศจึงให้จำเลยบริหารกิจการและเก็บรักษาเงินทั้งหมด รายละเอียดตามหนังสือบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องในวันทำบันทึกโจทก์มอบเงินสดให้จำเลย 110,000 บาท ต่อมาโจทก์ส่งเงินส่วนที่เหลือจากต่างประเทศมาเข้าบัญชีของจำเลยเป็นเงิน391,608 บาท จำเลยไม่เคยแบ่งปันผลประโยชน์หรือกำไรให้โจทก์และได้เลิกกิจการไปเปิดร้านใหม่โดยไม่ยอมคืนเงินลงทุนให้โจทก์โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินลงทุนจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับจากวันที่ 12 มีนาคม 2530รวมเป็นเงิน 675,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินลงทุนจำนวน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ร่วมลงทุนกับจำเลยเพื่อขยายกิจการของร้านตามหนังสือบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องจริง โดยนางลักษณา เจริญงามพิศหรืออัญณญา เฉลิมปฐมวงศ์ ซึ่งเคยเป็นภรรยาจำเลยและเป็นน้าของโจทก์ เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลกิจการรวมทั้งเรื่องการเงินของร้านในวันทำบันทึกโจทก์มิได้มอบเงินสดให้จำเลย ต่อมาโจทก์ส่งเงินจากต่างประเทศมาเข้าบัญชีของจำเลยจำนวน 390,608 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้มอบให้นางลักษณามาขอรับไปจากจำเลยโดยแจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะร่วมลงทุนแล้วจำเลยเห็นว่าโจทก์มิได้ส่งเงินมาให้ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้จำเลยจึงมอบเงินให้นางลักษณาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่มีผลประโยชน์ที่จำเลยจะต้องแบ่งปันให้โจทก์ โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลย จำเลยเปิดร้านใหม่เนื่องจากหย่าขาดจากนางลักษณาซึ่งโจทก์ทราบเรื่องดีและเคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกที่ศาลแขวงตลิ่งชัน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนางลักษณาหรืออัญษญา เจริญงามพิศหรือเฉลิมปฐมวงศ์ เข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมมิได้เป็นผู้ดูแลกิจการของร้านและมิได้เป็นผู้จัดเตรียมหนังสือบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องจำเลยเป็นผู้ชักชวนโจทก์ให้ร่วมลงทุน จำเลยร่วมไม่เคยได้รับเงินจากจำเลยไปคืนให้โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 391,608 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ได้แน่ชัดว่าวันใดเป็นวันที่โจทก์ทวงถาม จะถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษายกฟ้องคดีอาญายังไม่ถูกต้อง เพราะความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งต้องดำเนินการในศาลส่วนแพ่ง ทำนองว่าการที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ศาลในคดีอาญาพิพากษายกฟ้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี”ดังนั้น การที่จะถือว่า จำเลยผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากที่คู่ความนำสืบมาวินิจฉัย แต่ตามที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยรับปากว่าจะคืนเงินให้โจทก์ในปลายปี 2532หรือต้นปี 2533 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยก็ไม่คืนเงินให้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกเงินค่าหุ้นต่อศาลแขวงตลิ่งชันและศาลยกฟ้องเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และไม่ได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รายนี้แล้ว อันจะนำมาคำนวณคิดดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดได้แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกให้จำเลยชำระเงินคืนย่อมถือว่าโจทก์ได้ทวงให้ชำระหนี้แล้ว จำเลยไม่ชำระถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษายกฟ้อง และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันดังกล่าวจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์