คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเช่าเป็นแต่ระบุค่าเช่าเดือนละ 30 บาท ต้องถือว่ากำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนจำเลยจะเถียงว่าทางปฏิบัติชำระค่าเช่ากันเป็นรายปีไม่ได้เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 566 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า ‘ในความที่ตกลงกัน’ คือ ตามสัญญา ไม่ใช่ทางปฏิบัติเรื่องนี้ไม่มีกำหนดเวลาเช่า กำหนดแต่ระยะค่าเช่า คือเดือนละครั้ง จึงบอกล่วงหน้าเพียง 1 เดือนก็พอโจทก์บอกล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2501 และฟ้องคดีวันที่ 20 พฤศจิกายน 2501 เป็นเวลากว่า 1 เดือน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยขนไม้และสิ่งของต่างๆ ออกไปให้พ้นที่ดินและบ้านเรือนของโจทก์ ซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่าและเป็นผู้นำสิ่งของเหล่านี้เข้ามา ในชั้นบังคับคดี จำเลยทำสัญญาประกันกับศาลว่าจะปฏิบัติตามคำบังคับครบถ้วนทุกประการภายใน 7 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติครบถ้วนภายในกำหนดจะยอมให้ปรับเป็นเงิน 8,000 บาทครั้นถึงกำหนดปรากฏว่าจำเลยขนไม้และสิ่งของออกไปบางส่วน ส่วนไม้และสิ่งของที่เหลือจำเลยอ้างว่าเป็นของหุ้นส่วนซึ่งได้ตกลงแบ่งปันกันแล้วไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยมีหน้าที่ขนของที่จำเลยนำเข้ามาออกไปไม่ว่าจะเป็นของๆ ใครก็ตาม เมื่อจำเลยขนไปไม่หมด ก็ต้องถูกปรับ 8,000 บาทตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าโดยให้ขนสิ่งของต่าง ๆ และบริวารให้พ้นที่ดินและบ้านเรือนของโจทก์ และเรียกค่าเสียหายด้วย

จำเลยให้การต่อสู้อ้างความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯ และสู้ว่าการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลย โดยฟังว่าจำเลยใช้บ้านพิพาทเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯ และโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 แล้ว ส่วนค่าเสียหายคงพิพากษาให้โจทก์เพียงบางส่วน ไม่เต็มตามฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่าควรได้ค่าเสียหายตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ว่ายังมีสิทธิเช่า และโจทก์บอกเลิกการเช่าไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ยกอุทธรณ์โจทก์จำเลยเสียทั้งสองฝ่าย

จำเลยฎีกาต่อมา และร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลฎีกาสั่งยกคำร้องโจทก์ขอให้เรียกจำเลยมาสอบถามในการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล ในที่สุดศาลชั้นต้นสั่งให้กักขังจำเลยที่ 2 ไว้จนกว่าจะขนย้ายเสร็จ หรือมิฉะนั้นให้จำเลยวางเงินสด 8,000 บาท โดยจำเลยจะต้องให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามคำบังคับครบถ้วนทุกประการภายใน 7 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติครบถ้วนภายในกำหนดจะต้องถูกปรับเงินประกันนั้น จำเลยที่ 2 ยอมทำสัญญาประกันและวางเงิน 8,000 บาทตามที่ศาลสั่ง ปรากฏตามสัญญาประกันลงวันที่ 17 สิงหาคม 2503

ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2503 จำเลยยื่นคำแถลงว่าจำเลยได้จัดการขนย้ายไม้และสิ่งของต่าง ๆ อันเป็นส่วนของจำเลยออกจากที่ดินและบ้านเรือนของโจทก์หมดสิ้นเป็นการปฏิบัติตามคำบังคับแล้ว จึงขอรับเงิน 8,000 บาทที่วางประกันไว้คืน

ศาลสอบถาม จำเลยที่ 2 แถลงว่า ไม้และสิ่งของของจำเลยได้ขนออกไปหมดก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2503 แล้ว แต่ไม้และสิ่งของที่เหลืออยู่เป็นของนายเงี่ยงเจ็งซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับจำเลย นายเงี่ยงเจ็งขนเสร็จไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน2503 นี้เอง ไม้และสิ่งของของนายเงี่ยงเจ็งที่กล่าวนี้เดิมก็รวมเป็นหุ้นส่วนอยู่กับจำเลย แต่เพิ่งมาแบ่งปันกันเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2503

โจทก์แถลงว่าที่จำเลยว่าไม้และสิ่งของเป็นของนายเงี่ยงเจ็งนั้น ไม่เป็นความจริง ถือว่าเป็นของจำเลย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2503 ว่าไม้และสิ่งของที่จำเลยอ้างว่าเป็นของนายเงี่ยงเจ็งนั้น เดิมก็เป็นของจำเลยเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย เท่ากับจำเลยได้นำเอาไม้และสิ่งของเหล่านั้นเข้ามาไว้ในที่ดินของโจทก์ เมื่อจำเลยแพ้คดีจำเลยก็มีหน้าที่ต้องเอาไม้และสิ่งของเหล่านั้นทั้งหมดออกจากที่ดินของโจทก์ภายในกำหนดสัญญา เมื่อขนไปไม่หมดก็ต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญา จะอ้างว่าแบ่งแยกเป็นของคนโน้นคนนี้ไม่ได้ จึงมีคำสั่งว่าจำเลยผิดสัญญาที่ทำไว้ต่อศาล ให้ปรับเงิน 8,000 บาทนั้นเสีย

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งในเรื่องที่ศาลปรับ 8,000 บาท

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาในเรื่องค่าปรับต่อมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องเนื้อหาแห่งคดีก่อน แล้วจึงวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในเรื่องค่าปรับชั้นบังคับคดี

ฎีกาของจำเลยในเรื่องเนื้อหาแห่งคดีนั้น จำเลยฎีกาโต้เถียง 2 ข้อ ข้อหนึ่งว่าผู้เช่าส่งเงินค่าเช่าไปให้ผู้ให้เช่าทางธนาณัติแล้ว ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกการเช่าในระหว่างที่ตนได้รับค่าเช่าไม่ได้ข้อนี้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ส่งธนาณัติคืน และไม่ได้รับเงินค่าเช่าจากจำเลยไว้ ฉะนั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงตกไปเพราะผิดข้อเท็จจริง

อีกข้อหนึ่งจำเลยฎีกาว่า การบอกเลิกการเช่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเถียงว่า ทางปฏิบัติชำระค่าเช่าเป็นรายปี ต้องบอกล่วงหน้า 1 เดือน ก่อนครบปี คือในเดือนกรกฎาคม จะมาบอกเลิกเดือนกันยายนไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาเช่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาเช่า เป็นแต่ระบุค่าเช่าเดือนละ 30 บาท ต้องถือกำหนดชำระค่าเช่ารายเดือนจำเลยจะถือเอาทางปฏิบัติในการชำระค่าเช่าไม่ได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 566 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า “ในความที่ตกลงกัน” คือ ตามสัญญาไม่ใช่ทางปฏิบัติ เรื่องนี้ไม่มีกำหนดเวลาเช่า กำหนดแต่ระยะค่าเช่า คือ เดือนละครั้ง จึงบอกล่วงหน้าเพียง 1 เดือนก็พอ โจทก์บอกล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2501 และฟ้องคดีวันที่ 20 พฤศจิกายน 2501 เป็นเวลากว่า 1 เดือน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ส่วนฎีกาจำเลยที่ 2 ในชั้นบังคับคดี ซึ่งจำเลยเถียงว่าไม่ต้องรับผิดในการที่ขนไม้และสิ่งของไม่เสร็จตามสัญญา เพราะไม่ใช่ของของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยขนไม้และสิ่งของต่าง ๆ ออกไปให้พ้นที่ดินและบ้านเรือนของโจทก์ จำเลยเป็นผู้เช่าและเป็นผู้นำสิ่งของเหล่านี้เข้ามา จำเลยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาที่จะต้องขนออกไปไม่ว่าจะเป็นของของใคร เพราะการปฏิบัติตามคำพิพากษาอยู่ที่ว่าขนของที่จำเลยนำเข้ามาออกไป จำเลยจะไปตกลงแบ่งของให้ใครก็ตาม หน้าที่ที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาในการขนของออกไปก็คงมีอยู่ตามเดิม การที่จำเลยตกลงกับคนภายนอกผู้ไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ หาอาจเปลี่ยนแปลงหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ไม่ อีกประการหนึ่ง ก่อนที่จำเลยจะทำสัญญาประกัน จำเลยรู้แล้วว่าได้แบ่งไม้กัน จำเลยก็ยังยอมรับจะขนย้ายไม้ ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกัน จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนฎีกาที่ขอลดหย่อนผ่อนค่าปรับที่ต้องริบลงนั้น ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าวิธีการดื้อดึงของจำเลยโดยใช้อุบาย หาควรลดหย่อนให้ไม่

จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาของจำเลยเสีย ให้จำเลยใช้ค่าทนายชั้นนี้ 150 บาทแทนโจทก์ด้วย

Share