แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราให้จำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลชั้นต้นแต่เห็นว่าจำเลยอายุ 16 ปี พิพากษาแก้โดยลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้จำคุก 5 ปี ดังนี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนใจความอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองสำนวนกับพวกได้ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงต่อหน้าธารกำนัล ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276,281, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514 ข้อ 7
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยสำนวนหลังช่วยจับแขนขาผู้เสียหายให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 สำนวนแรกข่มขืนกระทำชำเรา พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 281, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514 ข้อ 7 ลงโทษจำคุกคนละ 10 ปี
จำเลยที่ 1 สำนวนแรก และจำเลยสำนวนหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281มาปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง และแม้การปรับบทลงโทษจำเลยนี้จะเป็นเหตุในลักษณะคดีก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยแล้ว ก็ไม่สมควรแก้บทลงโทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 สำนวนแรก และจำเลยสำนวนหลังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 83 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514 ข้อ 7 จำเลยสำนวนหลังอายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้จำคุก 5 ปี
จำเลยที่ 1 สำนวนแรก และจำเลยสำนวนหลังฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยสำนวนหลัง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกมีกำหนด 10 ปี ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมีอายุ 16 ปี จึงพิพากษาแก้เป็นว่าลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้จำคุก 5 ปี ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แล้วแก้โทษจำเลย โดยลดมาตราส่วนโทษให้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยสำนวนหลัง
ส่วนฎีกาจำเลยที่ 1 นั้นฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน