คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7949/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ในฐานะทายาทของ ถ. ผู้เช่าซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า ถ.หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 มาด้วยก็เป็นเพียงผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั่นเอง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแปลก เปรื่องนา กับนางถนอมวงศ์ เปรื่องนา เมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์ 2534 นางถนอมวงศ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ได้รับความยินยอมจากทายาทของนางถนอมวงศ์ ให้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่12 สิงหาคม 2527 นางถนอมวงศ์มารดาโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 236 จากจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 50 ตารางวาตารางวาละ 2,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ชำระเงินวันทำสัญญา 2,000 บาท และตกลงชำระเป็นรายเดือนละ เดือนละ1,000 บาท จำนวน 49 เดือน แล้วจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินที่เช่าซื้อให้มารดาโจทก์ ส่วนยอดเงินที่เหลืออีก 50,000 บาท มารดาโจทก์จะต้องทำนิติกรรมจำนองแก่ธนาคารและจำเลยที่ 1 ยังตกลงให้มารดาโจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวด้วย หลังจากทำสัญญามารดาโจทก์ได้ชำระเงินงวดสุดท้ายให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วจึงติดต่อให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวให้มารดาโจทก์เพื่อที่ มารดาโจทก์จะนำที่ดินจำนองแก่ธนาคารตามสัญญาแต่จำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนและต่อมาจำเลยที่ 1 กลับมีหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อที่ดินอ้างว่า มารดาโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้มารดาโจทก์เสียใจล้มป่วยและถึงแก่ความตายหลังจากนั้นโจทก์จึงไปตรวจสอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวณ สำนักงานที่ดินทราบว่าเมื่อประมาณปี 2530 จำเลยที่ 1 ได้ทำการแบ่งแยกโฉนดเลขที่ 236 มาเป็นโฉนดเลขที่ 25485 แล้วแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยอีกหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทโฉนดเลขที่ 27066ด้วย และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 สมคบกันจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตทำการโอนขายที่ดินดังกล่าว และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้สมคบกันโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 25485 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ฉบับลงวันที่18 กันยายน 2530 และเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27066ระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ฉบับ ลงวันที่ 11 มกราคม 2534ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27066 ให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่ขาดอยู่อีก 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 1และหากจำเลยทั้งสามไม่ไปดำเนินการดังกล่าวให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทของนางถนอมวงศ์จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไม่ประสงค์ให้ทายาทของนางถนอมวงศ์และบริวารปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์พร้อมทั้งบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 51/16 ออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 เนื่องจากไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2530 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 25485 และให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ฉบับลงวันที่ 11 มกราคม 2534 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 27066 ให้จำเลยที่ 1 ไปโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27066แก่โจทก์และให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่ขาดอยู่อีก 50,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะทายาทของนางถนอมวงศ์เปรื่องนา ผู้เช่าซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 1ให้การต่อสู้ว่านางถนอมวงศ์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่านางถนอมวงศ์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาแม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3มาด้วยก็เป็นเพียงผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั่นเอง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อคดีนี้ราคาหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง และคดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังว่านางถนอมวงศ์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนตรงตามเงื่อนไขในสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ฎีกาว่านางถนอมวงศ์ยังชำระค่าเช่าซื้อพร้อมดอกเบี้ยไม่ครบถ้วนตามสัญญา ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทต่อให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาลวงฟังไม่ได้ว่าโอนขายโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยทั้งสามฎีกาว่าการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนฎีกาของจำเลยทั้งสามดังกล่าวล้วนเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกามา ศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสาม คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยทั้งสาม ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share