คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์เครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถไถนาอันเป็นเครื่องกลของผู้เสียหายที่มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมทำนาในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (8) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง นายชาญชัยจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1388/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วร่วมกับพวกเข้าไปที่ใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นเคหสถานของนายมั่นผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพกสิกรรมทำนา แล้วลักเครื่องยนต์คูโบต้า 1 เครื่อง ของผู้เสียหายซึ่งติดตั้งอยู่บนรถไถนาโดยใช้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กบค กำแพงเพชร 31 บรรทุกเครื่องยนต์ดังกล่าวไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับนายชาญชัยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์มิได้มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด คงมีแต่คำให้การซัดทอดของนายชาญชัยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเป็นคำซัดทอดที่มีพิรุธและน่าจะมีมูลเหตุจูงใจเพราะอาจเป็นการซัดทอดเพื่อปกปิดความผิดให้บุคคลอื่นหรือให้การซัดทอดตามข้อสันนิษฐานของเจ้าพนักงานตำรวจหรืออาจถูกบังคับขู่เข็ญ เห็นว่า ฎีกาดังกล่าวเป็นแต่เพียงการคาดคะเนของจำเลย คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของนายชาญชัยแม้จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้ต้องหาด้วยกันก็ตาม แต่บทบัญญัติของกฎหมายก็มิได้ห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว เพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง หากการซัดทอดมีเหตุผลรับฟังได้ ศาลก็มีอำนาจรับฟังประกอบการพิจารณาได้ ทั้งคำให้การดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีเหตุจูงใจว่าให้การเพื่อให้ตนพ้นความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใด จึงรับฟังคำให้การของนายชาญชัยประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ที่นำสืบได้ ทั้งนายชาญชัยเป็นเพื่อนกับจำเลยมีความสนิทสนมกัน หากจำเลยไม่ได้ร่วมกับนายชาญชับกระทำความผิดจริงก็ไม่มีเหตุที่นายชาญชัยจะให้การซัดทอดจำเลยเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษ ส่วนที่นายชาญชัยมาเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า นายชาญชัยร่วมกับนายแอ๊ดลักเครื่องยนต์ของผู้เสียหายโดยจำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น แต่ก็มิได้เบิกความถึงเรื่องคำให้การชั้นสอบสวนที่เกี่ยวกับจำเลย จึงน่าจะเป็นลักษณะที่จะช่วยเหลือจำเลยมากกว่าที่จะเบิกความไปตามความเป็นจริง ประกอบกับตัวจำเลยเองยังให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและนำพันตำรวจโทสมชื่อพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ไปชี้ที่เกิดเหตุแสดงท่าทางต่างๆ ให้ถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพ ที่จำเลยนำสืบว่า ไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ แต่ให้การรับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกาย ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวก็เลื่อนลอยรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ นอกจากนี้ได้ความจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์พยานโจทก์ ผู้จับกุมจำเลยประกอบสำเนาบันทึกการจับกุมว่า ในทันทีที่จำเลยถูกจับกุม นอกจากจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับนายชาญชัยลักเครื่องยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยยังร่วมกับนายชาญชัยพาจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ไปยึดเครื่องยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปได้จากทุ่งนาหลังบ้านจำเลยมาเป็นของกลางอีกด้วย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบประกอบกันมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับนายชาญชัยกระทำความผิดตามฟ้องโดยยกเหตุผลการรับฟังไว้โดยละเอียดแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์เครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถไถนาอันเป็นเครื่องกลของผู้เสียหายที่มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมทำนาในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (8) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (8) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share