คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีไม้สักแปรรูป ซึ่งได้มาจากต้นสักในที่ดินกรรมสิทธิของเอกชนไว้ในครอบครองก่อนวันใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2494 นั้น ไม่เป็นผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และแม้จะครอบครองต่อมาจนใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2494 ซึ่งบัญญัติว่า “ไม้สักทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ฯลฯ” ก็ ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2494 ไม่ได้กล่าวให้มีผลย้อนหลัง ฉะนั้นจึงจะใช้กฎหมายฉะบับหลังให้มีผลย้อน หลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญามิได้ขัดต่อกฎหมาย ลักษณะอาญามาตรา 7 ผู้ครอบครองไม้สักดังกล่าวจึงยัง ไม่มีผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2494./

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยมีไม้สักแปรรูปจำนวน ๒๕ เหลี่ยม เป็นเนื้อไม้ ๑.๒๔ เมตรลูกบาศก์ เป็นไม้สักเก่าได้มาจาก ต้นไม้ในที่ดินกรรมสิทธิของเอกชนมีไว้ในครอบครองก่อนวันใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยมีไม้สักแปรรูปนั้นไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษ
จำเลยต่อสู้ว่ามีไว้ก่อน พ.ร.บ. เอาโทษ จึงไม่ควรมีผิด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับจึงพิพากษาว่า จำเลยผิดตามฟ้อง.
จำเลยอุทธรณ์,
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะจำเลยมีไม้ของกลางไว้ไม่เป็นผิด กฎหมายใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง คืนไม้ของกลางแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าใช้กฎหมายฉะบับที่ใช้ในขณะที่จำเลยมีไม้ ยังไม่เป็นผิด เพราะ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉะบับที่ ๑) พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ บัญญัติว่า “ไม้สักในป่า ทั่วราชอาณาจักร เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ฯลฯ
ถ้าใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็เป็นผิด เพราะ พ.ร.บ.ฉะบับหลังนี้ บัญญัติไว้ว่า “ไม้สักทั่วไปในราชอาณา จักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดเป็นไม้หวงห้าม าประเภท ก. ฯลฯ”
ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ ไม่ได้กล่าวถึงให้มีผลย้อนหลังในเรื่องเช่นนี้ จะใช้กฎหมายใหม่ให้ มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญาเช่นนี้ จะกระทำมิได้ ขัดต่อ ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๗ จำเลยไม่ควรมี
ผิด.
จึงพิพากษายืน.

Share