แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าลูกจ้างมีคุณสมบัติต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ โดยมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และปัญหาที่ว่าลูกจ้างได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชยไปโดยไม่ได้โต้แย้ง มีผลเท่ากับว่ายอมรับรองว่าได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วยแล้วนั้น ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้นเมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลแรงงานกลาง จึงจะยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์มิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า การเรียกค่าชดเชยโจทก์ไม่เคยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบก่อน จำนวนเงินค่าชดเชยที่โจทก์เรียกร้องไม่แน่ว่าถูกต้องหรือไม่จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับว่าให้ต้องจ่ายค่าชดเชย จึงไม่มีอำนาจที่จะจ่ายได้
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 บัญญัติว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ปัญหานี้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลแรงงานกลาง และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2518 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับบำเหน็จจากจำเลยไปแล้วเป็นจำนวนเงินมากกว่าค่าชดเชย เมื่อโจทก์ยอมรับเงินดังกล่าวโดยไม่โต้แย้งจึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์ยอมรับรองว่าได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยอีกนั้น ปัญหานี้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลแรงงานกลาง และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลย