คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7896-8256/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัท น. กำหนดรายชื่อผู้ขายวัตถุดิบและรายชื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่โรงงานของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและรูปแบบการผลิตรองเท้าของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่บริษัท น. สอดแทรกเข้าไปในกระบวนการผลิตรองเท้าตั้งแต่กำหนดตัวผู้จำหน่ายวัตถุดิบ กำหนดตัวผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า จำเลยที่ 2 ไม่มีอิสระในการเลือกซื้อวัตถุดิบและเลือกจ้างผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า จนถึงในกรณีการผลิตไม่ได้คุณภาพหรือรูปแบบตามความประสงค์ของบริษัท น. เจ้าหน้าที่ของบริษัท น. ที่ประจำอยู่ที่โรงงานก็แจ้งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขในส่วนโรงงานผลิตได้อีกด้วย ดังนั้นทุกขั้นตอนการผลิตของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในการควบคุมของบริษัท น. ทั้งนี้ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 ผลิตรองเท้าที่มีคุณภาพวัตถุดิบและคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานเดียวกับรองเท้าของบริษัท น. ทั่วโลก อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่จำเลยที่ 2 ต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ของบริษัท น. สัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัท น. จึงไม่ใช่สัญญาอันมีวัตถุประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในรองเท้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ตกลงรับผลิตรองเท้าจนสำเร็จประโยชน์ในการให้คุณภาพของรองเท้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตมีมาตรฐานเดียวกับรองเท้าของบริษัท น. ทั่วโลก จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นของบริษัท น. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างผลิตรองเท้าตามความหมายของคำว่า “ผู้รับเหมาชั้นต้น” ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5

ย่อยาว

คดีทั้งสามร้อยหกสิบเอ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 361
โจทก์ทั้งสามร้อยหกสิบเอ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว (จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ)
จำเลยที่ 2 ทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยส่วนที่เหลือตามบัญชีท้ายคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามร้อยหกสิบเอ็ด ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสามร้อยหกสิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยที่ 2 ผลิตรองเท้าให้บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด เพียงรายเดียว ในการผลิตบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้กำหนดรูปแบบ จำนวน วัตถุดิบ และตั้งราคากลางให้จำเลยที่ 2 พิจารณา หากจำเลยที่ 2 เห็นว่าสามารถผลิตได้ตามราคากลางก็แจ้งกลับไปยังบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทำใบยืนยันให้ทำการผลิตโดยระบุรายละเอียดขนาดรองเท้า จำนวนรองเท้าแต่ละขนาด สถานที่จัดส่ง และราคารองเท้าต่อคู่ส่งให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดซื้อวัตถุดิบจากรายชื่อผู้ขายที่บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด กำหนดเพื่อให้ใช้วัตถุดิบตามคุณภาพที่บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด กำหนด แม้มีผู้จำหน่ายวัตถุดิบรายอื่น (ไม่มีรายชื่อตามที่บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด กำหนด) ที่มีวัตถุดิบมีคุณภาพเดียวกันและราคาถูกกว่า จำเลยที่ 2 ก็ไม่สามารถซื้อได้ และจำเลยที่ 2 ดำเนินการผลิตจนเป็นรองเท้าสำเร็จรูปแล้วส่งให้บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผลิตชิ้นส่วนด้านบนของรองเท้าให้จำเลยที่ 2 ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้าต้องเป็นผู้ที่บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุรายชื่อไว้ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด จะตรวจสอบในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและคุณภาพสินค้า ระหว่างการผลิตมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด มาประจำที่โรงงานของจำเลยที่ 2 เพื่อตรวจสอบคุณภาพและการผลิตของจำเลยที่ 2 หากการผลิตไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้รูปแบบตามที่บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด กำหนด เจ้าหน้าที่ของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งฝ่ายตรวจสอบคุณภาพของจำเลยที่ 2 แล้วฝ่ายตรวจสอบคุณภาพประสานงานกับฝ่ายผลิตของจำเลยที่ 2 ให้แก้ไขปรับปรุงในส่วนของโรงงานผลิต บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด มีนโยบายทางการค้าในการควบคุมคุณภาพการผลิตของจำเลยที่ 2 ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับผู้ผลิตรายอื่นที่ผลิตรองเท้าให้บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทั่วโลก มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และเจ้าหน้าที่ของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจสอบคุณภาพของงานที่จำเลยที่ 1 ผลิตว่าถูกต้องตรงตามที่กำหนดไว้หรือไม่หากตรวจสอบแล้วไม่ได้คุณภาพตามกำหนดก็สั่งให้จำเลยที่ 1 หยุดการผลิต เห็นว่า การที่บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด กำหนดรายชื่อผู้ขายวัตถุดิบและรายชื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่โรงงานของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและรูปแบบการผลิตรองเท้าของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่บริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด สอดแทรกเข้าไปในกระบวนการผลิตรองเท้าตั้งแต่กำหนดตัวผู้จำหน่ายวัตถุดิบ กำหนดตัวผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า จำเลยที่ 2 ไม่มีอิสระในการเลือกซื้อวัตถุดิบและเลือกจ้างผู้ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า จนถึงในกรณีการผลิตไม่ได้คุณภาพหรือรูปแบบตามความประสงค์ของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าหน้าที่ของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ประจำอยู่ที่โรงงานก็แจ้งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขในส่วนโรงงานผลิตได้อีกด้วย ดังนั้นทุกขั้นตอนการผลิตของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในการควบคุมของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 ผลิตรองเท้าที่มีคุณภาพวัตถุดิบและคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานเดียวกับรองเท้าของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทั่วโลก อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่จำเลยที่ 2 ต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด สัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด จึงไม่ใช่สัญญาอันมีวัตถุประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในรองเท้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ตกลงรับผลิตรองเท้าจนสำเร็จประโยชน์ในการให้คุณภาพของรองเท้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตมีมาตรฐานเดียวกับรองเท้าของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทั่วโลก จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นของบริษัทไนกี้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างผลิตรองเท้าตามความหมายของคำว่า “ผู้รับเหมาชั้นต้น” ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และเมื่อจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ผลิตชิ้นส่วนรองเท้าด้านบน ตามแบบที่กำหนดในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับเหมาช่วง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสามร้อยหกสิบเอ็ดในค่าชดเชยส่วนที่เหลือตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามร้อยหกสิบเอ็ดฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าชดเชยส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2

Share