แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยได้บังคับรถยนต์ที่จำเลยขับเลี้ยวไปทางซ้ายเพื่อเปลี่ยนช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถที่ 1 ที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์มาอย่างรีบเร่ง ซึ่งหากจำเลยทอดเวลาไว้ระยะหนึ่งโดยให้สัญญาณไฟเลี้ยวทางด้านซ้ายเพื่อแสดงเจตนาให้รถคันอื่นในบริเวณใกล้เคียงได้ทราบ ผู้เสียหายอาจเร่งความเร็วรถจักรยานยนต์ของตนแซงพ้นรถยนต์ของจำเลยหรือชะลอความเร็วของรถจักรยานยนต์เพื่อเปิดทางให้จำเลยเปลี่ยนช่องเดินรถโดยสะดวก เมื่อจำเลยได้เลี้ยวรถมาทางซ้ายเพื่อเปลี่ยนช่องเดินรถอย่างกะทันหัน จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์บรรทุกเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์
พื้นผิวถนนในช่องเดินรถของผู้เสียหายตรงบริเวณที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีหลุม บ่อ หรือขรุขระ อันจะทำให้การขับขี่และบังคับรถจักรยานยนต์ทำได้ลำบากหรือทำให้เสียการทรงตัว และไม่ปรากฏร่องรอยการเฉี่ยวชนที่ตัวรถยนต์ของจำเลย กรณีจึงเชื่อได้ว่าเพราะเหตุที่จำเลยหักเลี้ยวรถเพื่อจะเปลี่ยนช่องเดินรถโดยกะทันหันขวางเส้นทางเดินรถของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายต้องหักรถหลบตามสัญชาติญาณทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส แม้รถยนต์ของจำเลยจะมิได้กระแทกหรือเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหักรถหลบได้ทัน แต่ก็ต้องถือว่าการที่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายเกรียงศักดิ์ แดงมณี ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์โดยมีนายแขก เส็งสมาน นั่งซ้อนท้ายไปตามถนนเพชรเกษมขาเข้ากรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 3 ช่องเดินรถ โดยขับอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 ใกล้เส้นแบ่งช่องเดินรถระหว่างช่องเดินรถที่ 1กับที่ 2 ส่วนจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 71 – 4225 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานครทิศทางเดียวกับผู้เสียหายโดยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 2 และแล่นคู่กันมาจนถึงบริเวณที่เกิดเหตุก่อนถึงจุดกลับรถบริเวณเกาะกลางถนนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเสียหลักล้มลง ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลที่ใต้ริมฝีปากล่าง เข่าซ้าย มีรอยช้ำบวมที่ไหล่ซ้าย กระดูกต้นแขนซ้ายตอนบนแตกร้าว ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนนายแขกไม่ได้รับอันตรายแก่กาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายแขก และนายวัฒนชัย รัศมีทวีสุข ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามหลังรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาต่างเบิกความเป็นประจักษ์พยานยืนยันตรงกันว่าเมื่อถึงที่เกิดเหตุ รถยนต์คันที่จำเลยขับหักหัวรถเลี้ยวเข้ามาในช่องเดินรถที่ 1 อย่างกะทันหันเฉี่ยวรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเสียหลักและล้มลง ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวว่าเมื่อจำเลยขับรถยนต์แล่นมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยหยุดรถตามสัญญาณของเจ้าพนักงานตำรวจจราจรที่จุดกลับรถ โดยหยุดอยู่ในช่องเดินรถที่ 2 ต่อจากรถยนต์คันอื่นเป็นคันที่ 5 เห็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งแล่นอยู่ระหว่างช่องเดินรถที่ 1 กับที่ 2 ข้างรถยนต์ของจำเลยเสียหลักแล้วเซมาล้มขวางอยู่หน้ารถยนต์ของจำเลย จำเลยไม่ได้เปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถที่ 1 เห็นว่า ถนนบริเวณที่เกิดเหตุมี 3 ช่องเดินรถ จุดเกิดเหตุอยู่ก่อนถึงจุดกลับรถบริเวณเกาะกลางถนนระยะห่างประมาณ 4 ถึง 5 คันรถยนต์ ช่องเดินรถที่ 3ชิดเกาะกลางถนนจะเป็นช่องเดินรถที่รถยนต์ส่วนใหญ่ใช้กลับรถเพราะฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า รถยนต์ในช่องเดินรถที่ 3 จึงแล่นช้าและหยุดชะงักเป็นบางครั้งตามสภาพ ส่วนช่องเดินรถที่ 2 จำเลยเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจราจรให้สัญญาณหยุด จำเลยหยุดรถต่อจากรถยนต์คันอื่นเป็นคันที่ 5ส่วนในช่องเดินรถซ้ายมือของจำเลยซึ่งหมายถึงช่องเดินรถที่ 1เยื้องไปข้างหน้ามีรถยนต์โดยสารหยุดอยู่และมีรถยนต์แท็กซี่หยุดตามหลัง ซึ่งสอดคล้องกับที่ปรากฏในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุว่า ในช่องเดินรถที่ 1 เยื้องรถยนต์ของจำเลยไปด้านหลังเล็กน้อยมีรถยนต์แท็กซี่หยุดอยู่ 1 คัน และจากคำเบิกความของนายวัฒนชัยว่า ก่อนเกิดเหตุ ในช่องเดินรถที่ 1 ใกล้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเยื้องไปข้างหน้าประมาณ 3 ถึง 4 เมตร มีรถยนต์กำลังแล่นอยู่ และด้านหลังรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายก็มีรถยนต์แล่นอยู่ส่วนนายแขกเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุในช่องเดินรถที่ 1 มีรถยนต์โดยสารคันหนึ่งแล่นอยู่และแล่นผ่านจุดเกิดเหตุไปและรถยนต์บนถนนบริเวณที่เกิดเหตุสามารถแล่นไปได้เรื่อย เมื่อพิเคราะห์ถึงบริเวณจุดกลับรถเลยจากที่เกิดเหตุไปไม่มีสัญญาณไฟจราจร การหยุดกั้นรถเพื่อให้รถยนต์ทั้งสองฝั่งได้กลับรถกัน เจ้าพนักงานตำรวจจราจรอาจให้สัญญาณหยุดรถเพียง 2 ช่องเดินรถคือ ช่องเดินรถที่ 2 และที่ 3 ส่วนช่องเดินรถที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับขอบถนนและไม่เป็นอุปสรรคแก่การกลับรถยนต์ของฝั่งตรงข้าม น่าเชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจจราจรมิได้ให้สัญญาณหยุดรถรถยนต์ในช่องเดินรถที่ 1 จึงสามารถแล่นไปได้เรื่อย ๆ สอดคล้องกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ การที่จำเลยขับรถยนต์แล่นมาในช่องเดินรถที่ 2 แล้วเห็นรถยนต์ข้างหน้าในช่องเดินรถเดียวกันแล่นต่อไปไม่ได้ ขณะเดียวกันในช่องเดินรถที่ 1 มีรถยนต์แท็กซี่จอดขวางการเดินรถของรถยนต์คันอื่นในช่องเดินรถที่ 1 อยู่เยื้องไปด้านหลังรถยนต์ของจำเลย และรถยนต์ที่แล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 ซึ่งแล่นอยู่หน้ารถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวแล่นเลยไป ทำให้ในช่องเดินรถที่ 1 บริเวณข้างรถยนต์ของจำเลยว่าง โดยสัญชาติญาณของคนขับรถย่อมต้องเปลี่ยนช่องเดินรถของตนไปแล่นในช่องเดินรถที่ 1 ซึ่งสามารถแล่นต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดรถ จำเลยสามารถมองเห็นสภาพของการจราจรในช่องเดินรถที่ 1 โดยตลอด โดยมองผ่านกระจกด้านหน้าและกระจกมองข้างด้านซ้าย แต่เชื่อว่าจำเลยมองไม่เห็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่แล่นมาคู่กันและกำลังจะขับแซงรถยนต์ของจำเลย ซึ่งในช่วงเวลานั้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายย่อมแล่นเลยตัวรถยนต์ของจำเลยมาอยู่ข้างรถบริเวณค่อนไปทางหัวรถยนต์ของจำเลย ซึ่งจะอยู่ใต้กระจกมองข้างด้านซ้ายของรถยนต์ของจำเลย จำเลยจึงไม่สามารถมองเห็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้เลย ไม่ว่าจากการมองผ่านกระจกหน้ารถหรือมองผ่านกระจกมองข้างด้านซ้ายของรถ ในสถานการณ์ดังกล่าวจำเลยย่อมเข้าใจว่าบริเวณข้างซ้ายรถยนต์ที่จำเลยขับไม่มีรถคันใดแล่นอยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องเดินรถที่ 2 ไปยังช่องเดินรถที่ 1 ได้โดยปลอดภัย จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยได้บังคับรถยนต์ที่จำเลยขับเลี้ยวไปทางซ้ายเพื่อเปลี่ยนช่องเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถที่ 1 อย่างรีบเร่ง สอดคล้องกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามปาก ซึ่งหากจำเลยทอดเวลาไว้ระยะหนึ่งโดยให้สัญญาณไฟเลี้ยวทางด้านซ้ายเพื่อแสดงเจตนาให้รถคันอื่นในบริเวณใกล้เคียงได้ทราบผู้เสียหายอาจเร่งความเร็วรถจักรยานยนต์ของตนแซงพ้นรถยนต์ของจำเลยหรือชะลอความเร็วของรถจักรยานยนต์เพื่อเปิดทางให้จำเลยเปลี่ยนช่องเดินรถโดยสะดวก เมื่อจำเลยได้เลี้ยวรถมาทางซ้ายเพื่อเปลี่ยนช่องเดินรถอย่างกะทันหัน จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์บรรทุกเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน อันอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินได้ ผู้เสียหาย นายแขกและนายวัฒนชัยก็เบิกความตรงกันว่า จำเลยหักเลี้ยวเปลี่ยนช่องเดินรถ ทำให้รถยนต์ของจำเลยเฉี่ยวรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเสียหลักและล้มลง แต่จำเลยเบิกความว่า รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มเองโดยมองเห็นจากกระจกมองข้างด้านซ้ายของรถนั้นเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าพื้นผิวถนนในช่องเดินรถของผู้เสียหายตรงบริเวณที่เกิดเหตุมีหลุมบ่อหรือขรุขระ อันจะทำให้การขับขี่และบังคับรถจักรยานยนต์ทำได้ลำบากหรือทำให้เสียการทรงตัว แต่ก็ไม่ปรากฏร่องรอยการเฉี่ยวชนที่ตัวรถยนต์ของจำเลย กรณีจึงเชื่อได้ว่าเพราะเหตุที่จำเลยหักเลี้ยวรถเพื่อจะเปลี่ยนช่องเดินรถโดยกะทันหันขวางเส้นทางเดินรถของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายต้องหักรถหลบตามสัญชาติญาณ ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลง และผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส แม้รถยนต์ของจำเลยจะมิได้กระแทกหรือเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหักรถหลบได้ทัน แต่ก็ต้องถือว่าการที่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น