แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม โดยไม่แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านอื่น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ ณ ที่ใด แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และมีเจตนาจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมนั้นกระทำเพียงเพื่อมิให้โจทก์ติดตามหาที่อยู่ของจำเลยได้พบเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิมตามฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตและสัญญากู้ยืมเงิน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่ไม่อนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยปิดหมาย เนื่องจากตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่โจทก์แสดงต่อศาลปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งย้ายออกจากบ้านที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่รายงานว่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้เพราะพบแต่บ้านปิดอยู่ โจทก์จึงแถลงขอเลื่อนวันนัดพิจารณาออกไปเพื่อสืบหาที่อยู่ใหม่ของจำเลย ก่อนถึงวันนัดพิจารณาที่เลื่อนออกไป โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่อยู่ตามคำฟ้องเป็นภูมิลำเนาแห่งสุดท้ายของจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยแจ้งย้ายเข้าไปอยู่ ณ ภูมิลำเนาแห่งใดอีก นายทะเบียนแจ้งว่าจำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านแล้วไม่มีการแจ้งย้ายเข้า จึงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำฟ้อง เป็นไม่รับคำฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดลำพูน) ได้หรือไม่ คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจฟ้องจำเลยผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภค ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตและสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 17 บัญญัติให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้เพียงแห่งเดียว ข้อเท็จจริงได้ความตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จากฐานข้อมูลการทะเบียนสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ท้ายคำแถลงลงวันที่ 26 มกราคม 2559 และท้ายคำร้องลงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ของโจทก์ในสำนวนว่า เดิมจำเลยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 133 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน อันเป็นภูมิลำเนาที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง แต่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านหลังนี้แล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีและนับตั้งแต่วันที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2559 เป็นเวลากว่า 9 เดือน ไม่ปรากฏจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่าจำเลยแจ้งย้ายเข้าอยู่ในทะเบียนบ้านหลังใด เห็นว่า การเปลี่ยนภูมิลำเนานั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 41 บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่ พร้อมด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนา” การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านหลังเดิม โดยไม่แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านหลังอื่นและปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดมา นับเป็นเรื่องที่ผิดปกติทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ ณ ที่ใด เป็นพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่หรือมีเจตนาที่จะเปลี่ยนภูมิลำเนาอย่างแท้จริง แต่กระทำเพียงเพื่อมิให้โจทก์ติดตามหาที่อยู่ของจำเลยได้พบดังที่โจทก์ฎีกาเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องถือว่า จำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 133 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องและคืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ