คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีไม้สักแปรรูปได้มาจากไม้ในที่เอกชนไว้ตั้งแต่ก่อนใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3)2494 ซึ่งขณะนั้นไม่เป็นความผิด แม้จะได้มีไว้ต่อมาจนใช้ พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 3) แล้ว ซึ่งแม้เป็นไม้สักขึ้นในที่เอกชนก็เป็นไม้หวงห้ามนั้นการมีไม้นั้นก็ไม่เป็นความผิดเพราะจะใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังลงโทษทางอาญาหาได้ไม่

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความเป็นยุติว่า จำเลยมีโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งไม้แปรรูปจำนวน 40 เหลี่ยม เนื้อไม้ 5.77 เมตรลูกบาศก์เป็นไม้สักเก่าได้มาจากต้นไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเอกชน มีไว้ในครอบครองก่อนวันใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2494เจ้าพนักงานจับได้ไม้ของกลางจากจำเลยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2494 ที่ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน อันอยู่ภายในเขตควบคุมแปรรูปไม้ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรประกาศพ้นกำหนด 90 วันแล้ว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูป ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 47-48-73-94 และพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 4, 17 และริบไม้ของกลาง

จำเลยต่อสู้ว่า ไม่ควรมีความผิด เพราะมีไว้ก่อนกฎหมายบัญญัติเอาโทษ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ถึงจำเลยจะมีไว้ก่อน แต่ก็ต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 48 และ 50 บัญญัติว่าการมีไม้หวงห้ามแปรรูปเกินกำหนดที่กฎหมายอนุญาต ต้องได้รับอนุญาตมิฉะนั้นมีผิดตาม มาตรา 73 จึงพิพากษาให้ปรับจำเลย 500 บาทแต่คำให้การของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ให้ลดโทษฐานปรานีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 ลงหนึ่งในสามคงปรับ 333 บาท 33 สตางค์ และริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะจำเลยมีไม่เป็นความผิด กฎหมายใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และคืนไม้ของกลางให้จำเลย

โจทก์ฎีกาเป็นปัญหากฎหมายยืดยาว แต่ลงความได้เพียงข้อเดียวว่ากฎหมายใหม่มีผลย้อนหลังลงโทษจำเลยได้

ถ้าใช้กฎหมายฉบับที่ใช้ในขณะจำเลยมีไม้ ยังไม่เป็นความผิดเพราะพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2484 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ไม้สักในป่าทั่วราชอาณาจักร เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ไม้อื่นในป่าท้องที่ใด จะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”

ถ้าใช้กฎหมายฉบับที่ใช้ในขณะจับภายหลังก็เป็นความผิด เพราะพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 กำหนดในเรื่องไม้สักขยายวงกว้างออกไปถึงไม้สักในที่เอกชนให้เป็นไม้หวงห้ามด้วยโดยแก้มาตรา 7 เดิมนั้นเสียใหม่ว่า

วรรคแรก “ไม้สักทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ฯลฯ”

ศาลฎีกาปรึกษาเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ฉบับหลัง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 ไม่ได้กล่าวถึงให้มีผลย้อนหลังในเรื่องเช่นว่านี้ จะใช้กฎหมายใหม่ให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญาเช่นนี้จะกระทำมิได้ ขัดต่อกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 7 ตอนแรก จำเลยไม่ควรมีความผิด

จึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์เสีย

Share