คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7868/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาของ ช. เจ้าบ่าว หยิบสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป ไม่ว่าทรัพย์ตามฟ้องจะถือเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของ น. เจ้าสาว ยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าว หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาเป็นเงิน 193,875 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายอรรถปรีชา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 193,875 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นางสาวนัยนาฏ บุตรโจทก์ร่วมรักใคร่ชอบพอกับนายชยา บุตรชายจำเลยจนฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ โจทก์ร่วมและจำเลยได้จัดพิธีมงคลสมรสให้แก่นางสาวนัยนาฏและนายชยาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ที่บ้านของโจทก์ร่วมที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยฝ่ายจำเลยมอบเงินสด 200,000 บาท สร้อยคอทองคำ 5 เส้น สร้อยข้อมือทองคำ 4 เส้น ที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า มีน้ำหนัก 9 บาท ให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วม ต่อมาวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ โจทก์ร่วมนำสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์ตามฟ้องไปตรวจสอบพร้อมกับฝ่ายจำเลยที่ร้านทองเยาวราช ผลการตรวจสอบได้น้ำหนักเพียง 8.25 บาท จึงเกิดการโต้เถียงกัน ระหว่างนั้น จำเลยหยิบเอาสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำ รวม 9 เส้น ราคา 193,875 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า พิธีสมรสระหว่างบุตรสาวโจทก์ร่วมกับบุตรชายจำเลยไม่มีของหมั้น มีแต่สินสอดเป็นเงินสด 200,000 บาท และทรัพย์ตามฟ้องคือ สร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำ ส่วนจำเลยนำสืบว่า ทรัพย์ตามฟ้องไม่ใช่สินสอดแต่เป็นของหมั้น เห็นว่า สร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำอันเป็นทรัพย์ตามฟ้องจะเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามฟ้อง ดังนี้ หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 336 วรรคแรก และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share