แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นสถาบันการเงินจึงตกอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งมาตรา 46 กำหนดว่าในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้… (3) ค่าบริการที่อาจเรียกได้ ทั้งมาตรา 46 วรรคสอง ยังบัญญัติว่า… ค่าบริการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 46 (3) มิให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ อันแสดงให้เห็นว่า นอกจากดอกเบี้ยแล้วโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยังมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการได้ นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับสำหรับธนาคารพาณิชย์ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ ซึ่งตามสัญญาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ข้อ 7.2 ระบุว่า ผู้ให้สัญญาตกลงชำระค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท ให้แก่ธนาคาร เมื่อจำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้ต่อโจทก์เป็นเงิน 3,973,572.53 บาท และต้องการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์กำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้จำเลยทั้งสองต้องเสียค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท อันเป็นการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ในการดำเนินการนอกเหนือจากสัญญาสินเชื่อเดิมซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งกำไรหรือประโยชน์นอกจากดอกเบี้ยมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ค) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะทำสัญญา และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,868,607.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,868,607.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 กันยายน 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่กำหนดให้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 และวันที่ 17 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 สมัครขอใช้บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจกับโจทก์ ต่อมาโจทก์อนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,000,000 บาท และ 2,400,000 บาท ตามลำดับ ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญา เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมออกหนังสือค้ำประกันหนี้รายดังกล่าวให้แก่โจทก์ ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เพียงบางส่วนและคงมีหนี้ค้างชำระ 1,935,565.83 บาท และ 1,894,803.81 บาท ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2557 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยอมรับว่ามีหนี้ค้างชำระกับโจทก์เป็นต้นเงิน 3,830,369.64 บาท และตกลงเงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้ใหม่ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน คงมีภาระหนี้ถึงวันฟ้อง 3,672,762.62 บาท หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งทำสัญญาค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ได้จ่ายเงินให้โจทก์ 885,000 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และต้นเงินในวันดังกล่าว คงเหลือต้นเงินค้างชำระ 2,868,607.15 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงินจึงตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งมาตรา 46 กำหนดว่าในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้… (3) ค่าบริการที่อาจเรียกได้ ทั้งมาตรา 46 วรรคสองยังบัญญัติว่า… ค่าบริการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 46 (3) มิให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ อันแสดงให้เห็นว่า นอกจากดอกเบี้ยแล้วโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยังมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการได้ นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับสำหรับธนาคารพาณิชย์ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ คดีนี้เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาสินเชื่อเดิมและประสงค์ที่จะขอผ่อนปรนการชำระหนี้และขอทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ ซึ่งตามสัญญาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ระบุว่า ผู้ให้สัญญา (จำเลยทั้งสอง) ตกลงชำระค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท ให้แก่ธนาคาร (โจทก์) เมื่อจำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้ต่อโจทก์ ณ วันที่ 25 กันยายน 2557 เป็นเงิน 3,973,572.53 บาท และต้องการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์กำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้จำเลยทั้งสองต้องเสียค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท อันเป็นการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ในการดำเนินการนอกเหนือจากสัญญาสินเชื่อเดิมซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งกำไรหรือประโยชน์นอกจากดอกเบี้ยมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ค) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะทำสัญญา และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (3) ตามที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 19,152 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ตามศาลชั้นต้นสูงเกินส่วนหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ข้อ 6 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ เอ็มแอลอาร์บวก 6.75 ต่อปี หาก ณ ขณะใดขณะหนึ่งเมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์บวก 6.75 ต่อปี ดังกล่าวแล้วได้เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดแทน และหาก ณ ขณะใดขณะหนึ่งเมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์บวก 6.75 ต่อปี ดังกล่าวแล้วได้ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แทน ซึ่งขณะทำสัญญาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์เท่ากับอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่ากับอัตราร้อยละ 27.50 ต่อปี ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ตามศาลชั้นต้นนั้นนับว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ