แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้จึงตกลงยกที่พิพาทตีใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์แต่กลับนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ขายฝากที่พิพาทไว้กับพ่อตาโจทก์และให้โจทก์กับภรรยาไปไถ่ถอนคืน แล้วจำเลยที่ 2 ยกที่พิพาทให้โจทก์ การนำสืบของโจทก์จึงขัดกับประเด็นข้อต่อสู้ของโจทก์ เป็นการนำสืบนอกประเด็นและรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) และเมื่อคดีฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยแล้ว การที่โจทก์เข้าแย่งทำนาในที่พิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อจำเลยชอบที่จำเลยทั้งสองจะฟ้องเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
คำให้การแก้ฟ้องแย้งที่โจทก์มอบให้ทนายความยื่นนั้นถือเสมือนว่าโจทก์เป็นผู้ยื่นด้วยตนเอง จึงย่อมผูกพันโจทก์โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าทนายความของโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งไม่ตรงตามความจริงโดยโจทก์ไม่ทราบเรื่อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ จำนวน ๒ แปลง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองโดยจำเลยทั้งสองได้รับมรดกมาจากบิดามารดา โจทก์เคยขออาศัยทำนาที่พิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสอง แล้วต่อมาโจทก์ไปขอรังวัดออก น.ส.๓ ก. เอาที่ดินของจำเลยไปใส่ชื่อของโจทก์รวม ๓ แปลง แต่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เพียง ๒ แปลง ทางราชการได้ดำเนินการสอบสวนตามคำร้องเรียนของจำเลยทั้งสองแล้วเห็นว่าการออก น.ส.๓ ก.ทั้ง ๓ แปลงไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นควรเพิกถอนทั้งหมด แต่ยังไม่ทันดำเนินการโจทก์ก็ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โจทก์เป็นฝ่ายเข้าบุกรุกที่พิพาททำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย ขอให้พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยทั้งสอง๓๐,๐๐๐ บาท และปีถัดไปปีละ ๓๐,๐๐๐ บาท และปีถัดไปปีละ ๓๐,๐๐๐ บาทจนกว่าโจทก์จะเลิกเกี่ยวข้อง กับให้เพิกถอน น.ส.๓ ก. ๒ ฉบับ รายพิพาทซึ่งมีชื่อโจทก์ออกแล้วใส่ชื่อจำเลยทั้งสองแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเคยเป็นของจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒เป็นผู้ค้ำประกันการที่จำเลยที่ ๑ กู้เงินจากโจทก์และมอบที่พิพาทให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันเงินกู้ จำเลยทั้งสองไม่มีเงินชำระเงินกู้จึงมอบที่พิพาทตีใช้หนี้ยอมให้เป็นสิทธิแก่โจทก์ โจทก์จึงขอออก น.ส. ๓ ก. ที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ และค่าสินไหมทดแทนที่ฟ้องแย้งสูงเกินกว่าความเสียหายที่แท้จริง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ และพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยปีละ ๗,๐๐๐ บาท นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒จนกว่าโจทก์จะเลิกเกี่ยวข้องกับที่พิพาท ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ ก.) ๒ ฉบับรายพิพาทของโจทก์และให้ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองแทน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยโจทก์เบิกความในคดีนี้ว่า จำเลยที่ ๒ ขายฝากที่พิพาทไว้กับพ่อตาโจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้โจทก์กับภรรยาไปไถ่ถอนคืนแล้ว จำเลยที่ ๒ ยกนาพิพาทให้โจทก์ แต่ในคำให้การฟ้องแย้งของโจทก์ โจทก์ให้การว่า โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ กู้เงินโดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้จึงตกลงยกนาพิพาทตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์ การนำสืบของโจทก์จึงขัดกับประเด็นข้อต่อสู้ของโจทก์ เป็นการนำสืบนอกประเด็น จึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗(๑) ประกอบกับโจทก์เบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๔๔/๒๕๒๓ ของศาลจังหวัดสุรินทร์ว่าจำเลยไม่เคยยกที่ดินตีใช้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์ พยานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ตามคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ว่า จำเลยยกที่พิพาทให้โจทก์เพื่อตีใช้หนี้เงินกู้จากโจทก์ไป ที่โจทก์อ้างว่า ความจริงเป็นดังโจทก์นำสืบ แต่ทนายความคนก่อนของโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งไม่ตรงตามความจริงโดยโจทก์ไม่ทราบเรื่องนั้น เห็นว่า โจทก์มอบให้ทนายความยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ถือเสมือนว่าโจทก์เป็นผู้ยื่นด้วยตนเอง คำให้การแก้ฟ้องแย้งนั้นย่อมผูกพันตัวโจทก์ พยานจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่า เชื่อว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดนั้น เมื่อที่พิพาทเป็นของจำเลย โจทก์เข้าแย่งทำนาในที่พิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อจำเลย ชอบที่จำเลยทั้งสองจะฟ้องเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ สำหรับค่าเสียหายของจำเลยทั้งสองที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชดใช้แก่จำเลยทั้งสองมานั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ ก.) จำนวน ๒ ฉบับ รายพิพาทของโจทก์และให้ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองแทนนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ๒ ฉบับ รายพิพาทศาลพิพากษาเพิกถอนแล้วก็ไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จะใส่ชื่อจำเลยทั้งสองได้อีก
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอให้ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ๒ ฉบับรายพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์