แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายลาออกเองและการลาออกของโจทก์เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างเพราะไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในการเลิกสัญญาจ้างกัน หากเป็นความจริงดังที่จำเลยต่อสู้ โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ และการที่โจทก์ลาออกมีผลในวันนั้นเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถหาครูมาสอนนักเรียนแทนโจทก์ได้ทัน จำเลยได้รับความเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณารวมกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ทำผิดและจำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 40,000 บาท ค่าเสียหาย 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าชดเชย 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้บอกเลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ลาออกเอง จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้เงินตามที่โจทก์ฟ้อง แต่การที่โจทก์ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 และให้มีผลในวันนั้นเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างทำให้จำเลยไม่สามารถหาครูคนอื่นมาสอนนักเรียนแทนโจทก์ได้ทัน จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 352,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฟ้องแย้งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาพิพากษารวมกันได้นั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์แต่โจทก์เป็นฝ่ายลาออกเอง และการลาออกของโจทก์เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้าง เพราะมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในการเลิกสัญญาจ้างกัน หากความจริงเป็นดังที่จำเลยต่อสู้ โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ แต่โจทก์กลับต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาพิพากษารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งของจำเลย