คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7818/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินโจทก์โดยจำเลยที่ 1ไม่เคยเข้ามาครอบครองที่ดินดังกล่าว และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลเพิกถอน น.ส.3 ก. และนิติกรรมการขายที่ดินและการจำนอง และตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา อ้างว่าจำเลยที่ 2 ให้คนงานไถที่ดินพิพาทและปักรั้วลวดหนามเข้ามาในที่ดินโจทก์ กับถอนเสาปูนซิเมนต์ที่โจทก์ปักไว้เป็นแนวเขตแม้มิได้เป็นการที่จำเลยที่ 2 กระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้องก็ตาม แต่โจทก์ได้มีคำขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทด้วย ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของโจทก์จึงเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทซึ่งอาจทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2)
โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน การที่จำเลยที่ 2เข้าไปกั้นรั้วลวดหนามและเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพิพาทในระหว่างการพิจารณาของศาล ย่อมอาจทำให้โจทก์เดือดร้อนเสียหายได้หากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีกรณีจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) มาใช้โดยห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยที่ 2 กั้นรั้วลวดหนามเพิ่มเติมและห้ามมิให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพิพาทต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนรั้วลวดหนามและเสาปูนซิเมนต์ให้กลับคืนสภาพเดิมนั้น ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างไม่สมควรเข้าไปทำสิ่งใดในที่ดินพิพาท เพราะอาจเป็นเหตุให้อีกฝ่ายเดือดร้อนเสียหายได้หากศาลพิพากษาให้ฝ่ายนั้นชนะคดี เมื่อโจทก์ยังไม่ได้เข้าไปในที่ดินพิพาทและยังไม่สมควรเข้าไปทำสิ่งใดในที่ดินพิพาท ดังนั้นการมีรั้วลวดหนามและเสาปูนซิเมนต์อยู่ยังไม่ทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อน กรณีไม่มีเหตุสมควรให้รื้อถอนรั้วลวดหนามและเสาปูนซิเมนต์ที่จำเลยที่ 2 เข้าไปปักไว้ดังกล่าว

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2618 เนื้อที่ 39 ไร่ โดยตัวแทนจำเลยที่ 1ชี้แนวเขตตามแนวเสาปูนซิเมนต์ซึ่งปักเข้ามาในที่ดินโจทก์ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้ามาครอบครองที่ดินดังกล่าว และไม่ได้มีการแจ้งให้โจทก์ไประวังแนวเขต การขอออก น.ส.3 ก. ของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้สิทธิในที่ดินแปลงนั้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าวออกเป็น น.ส.3 ก.เลขที่ 2619 เนื้อที่ 4 ไร่ เลขที่ 2620 เนื้อที่ 1 ไร่ เลขที่ 2629 เนื้อที่ 5 ไร่ 4 ตารางวาและเลขที่ 2630 เนื้อที่ 11 ไร่ 2 ตารางวา ซึ่งที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่แบ่งแยกทุกแปลงต่างทับที่ดินโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ขายที่ดินเหล่านั้นให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 3 ส่วน น.ส.3 ก. เลขที่ 2618 คงเหลือที่ดินเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา และไม่ได้ทับที่ดินโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้สิทธิในที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิในที่ดินเหล่านั้นด้วย ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 2619, 2620, 2629 และ 2630 กับให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 และห้ามจำเลยทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวกับที่ดินชายทะเลด้านหน้าของที่ดินของโจทก์ด้วย

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามฟ้องตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ภายหลังได้มีการแจ้งขอออก ส.ค.1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกน.ส.3 ก. ต่อสำนักงานที่ดิน พร้อมนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการไต่สวนพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่ขอออก น.ส.3 ก. จริง การออก น.ส.3 ก. ของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยถูกต้องและมิได้ทับที่ดินโจทก์ โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว การทำสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 รวมทั้งการจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3เป็นการทำโดยเปิดเผยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยาน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ให้คนงานไถที่ดินพิพาทและปักรั้วลวดหนามกั้นแนวเขตที่ดินเข้ามาในที่ดินโจทก์ กับถอนเสาปูนซิเมนต์ที่โจทก์ปักไว้เป็นแนวเขต แล้วปักเข้ามาให้ดูเหมือนที่ดินโจทก์มีเนื้อที่น้อยลงและให้เป็นไปตามรูปแผนที่ใน น.ส.3 ก. ของจำเลยที่ 2 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกฟ้องร้องทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปครอบครองดูแลที่ดินโจทก์ได้ และจำเลยที่ 2 กระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพิพาทอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี จึงขอให้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกั้นรั้วลวดหนามและเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินอีกต่อไป และให้จำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามและเสาปูนซิเมนต์ต่าง ๆ ที่กระทำลงไปให้กลับคืนสภาพเดิม

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 2 ได้รื้อถอนเสาที่โจทก์ปักไว้เป็นแนวเขตที่ดินออกแล้วนำไปปักตามแนวใหม่ กับได้ปักหลักกั้นลวดหนามขึ้น และได้ปรับสภาพที่ดินพิพาทเป็นที่เตียนราบเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ถูกโจทก์ฟ้องร้องคือการที่จำเลยที่ 1 ขอออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้ามาครอบครองที่ดินดังกล่าว และการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ถูกฟ้องร้องคือการที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 3 โดยตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ให้คนงานไถที่ดินพิพาทและปักรั้วลวดหนามเข้ามาในที่ดินโจทก์ กับถอนเสาปูนซิเมนต์ที่โจทก์ปักไว้เป็นแนวเขตแล้วปักเข้ามาให้ดูเหมือนที่ดินโจทก์มีเนื้อที่น้อยลง และให้เป็นไปตามรูปแผนที่ใน น.ส.3 ก. ของจำเลยที่ 2 นั้น จะมิได้เป็นการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง แต่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2ตามคำร้องของโจทก์เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทซึ่งอาจทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายได้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) และเห็นว่า ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลการที่จำเลยที่ 2 เข้าไปกระทำการดังกล่าวในที่ดินพิพาทอาจทำให้โจทก์เดือดร้อนเสียหายได้หากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี กรณีมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) มาใช้โดยการห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยที่ 2 กั้นรั้วลวดหนามและเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพิพาทต่อไปตามคำขอของโจทก์ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2รื้อถอนรั้วลวดหนามและเสาปูนซิเมนต์ให้กลับคืนสภาพเดิมนั้น เห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างไม่สมควรเข้าไปทำสิ่งใดในที่ดินพิพาทเพราะอาจเป็นเหตุให้อีกฝ่ายเดือดร้อนเสียหายได้หากศาลพิพากษาให้ฝ่ายนั้นชนะคดีเมื่อโจทก์ไม่ได้เข้าไปในที่ดินพิพาทและยังไม่สมควรเข้าไปทำสิ่งใดในที่ดินพิพาทในชั้นนี้การมีรั้วลวดหนามและเสาปูนซิเมนต์อยู่ยังไม่ทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อน จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ 2 กั้นรั้วลวดหนามและเปลี่ยนแปลงสภาพ ที่ดินพิพาทต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก

Share