คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7812/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาเช่าซื้อระงับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ไม่ส่งมอบรถคืน มีผลทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะใช้รถนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
แม้สัญญาเช่าซื้อที่ทำขึ้นจะมีข้อความระบุทำนองว่า หากผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อและค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ ตามสัญญา ผู้เช่าซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินต้นที่ผิดนัดให้แก่เจ้าของในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อนั้นเลิกกันแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากฝ่ายจำเลยในอัตราดังกล่าวตามสัญญา หากแต่คงมีสิทธิเรียกให้ฝ่ายจำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางกรรณิการ์ สวนทอง ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกไปจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อจากนางกรรณิการ์ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เป็นรายงวด รวมทั้งสิ้น 1,038,200 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน โจทก์ติดตามรถยนต์คืนได้จากจำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 739,145 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามให้การว่า ขณะที่นางกรรณิการ์เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์มีเฉพาะส่วนหัวกับคัสซีซึ่งราคาเงินสด 970,000 บาท และชำระให้โจทก์ไปแล้ว 251,900 บาทจำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์อีก 322,200 บาท รวมเป็นค่าเช่าซื้อที่โจทก์ได้รับแล้ว 574,000บาท และจำเลยที่ 1 ยังได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์อีก 80,000 บาท เมื่อซื้อแล้วได้มีการต่อเติมตัวรถรวมทั้งติดตั้งเครื่องปรับอากาศและวิทยุเทปเป็นเงิน 270,000 บาท ในขณะที่โจทก์ยึดกลับคืนไปนั้นรถยนต์มีราคา 700,000 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับไปจากนางกรรณิการ์และจำเลยที่ 1 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,355,100 บาท โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 181,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามได้จำนวนเพียงใด เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อระงับจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งคืนรถย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะใช้รถนั้น จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นายวิศักดิ์ นิราศรผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า นางกรรณิการ์เช่าซื้อรถยนต์ราคาเดิม 1,290,100บาท ชำระค่าเช่าซื้ออยู่ 7 งวด ต่อมานางกรรณิการ์โอนสิทธิการเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อต่ออีก 7 งวด ก็ผิดสัญญา ยอดเงินค่าเช่าซื้อและค่างวดที่โจทก์ได้รับชำระหนี้หากคำนวณแบบไม่รวมดอกเบี้ย ราคารถยนต์จะเป็นเงิน890,000 บาท ค่างวด 14 งวด จะเป็นเงิน 346,000 บาท ราคารถของโจทก์ที่ยังขาดสุทธิจึงเป็นเงิน 544,000 บาท นอกจากนี้รถที่โจทก์ให้เช่าซื้อไปผู้เช่าซื้อได้นำไปติดตั้งกระบะ แอร์ วิทยุเทปและฟิล์มกรองแสงซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบว่ามีมูลค่า 270,000 บาทโจทก์ก็ได้ยอมรับในคำแก้อุทธรณ์ว่า ค่าอุปกรณ์ดังกล่าวหากโจทก์จะต้องชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ย่อมไม่เกิน 100,000 บาท ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากมูลค่าที่สูงขึ้นของรถที่ให้เช่าซื้อ อีกทั้งในระหว่างผิดนัดจำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ไปบางส่วนแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 18 เดือน เป็นเงิน 90,000 บาท ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากค่าขาดประโยชน์ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ระบุว่าหากผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อและหรือค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ ตามสัญญานี้ยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินต้นที่ผิดนัดให้แก่เจ้าของ…ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายตามสัญญา ฉะนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาข้อดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 91,000 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share