แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเบียดบังเอาเงินของกรมที่ดินโจทก์ไป เมื่อคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งทำรายงาน กองวิชาการทำความเห็นเสนออธิบดีกรมที่ดินว่า ควรสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติม อธิบดีมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแสดงถึงการรับทราบรายงานการสอบสวนนั้นแล้ว ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่อธิบดีมีคำสั่ง โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันมีคำสั่งดังกล่าว คดีโจทก์เฉพาะตัวจำเลยจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. ม.448 แล้ว
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 129,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยยกฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดด้วยการเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เพียงแต่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป อันเป็นการกระทำละเมิดให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีนี้อยู่ในบังคับของอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” คดีนี้ นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปถึงวันฟ้องยังไม่พ้นสิบปี แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า อธิบดีกรมโจทก์ทราบเรื่องการทุจริตเบียดบังเงินรายนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จนถึงกับได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง เมื่ออธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ได้ทราบเรื่องการทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดแล้ว การที่อธิบดีกรมโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง ก็เพื่อที่โจทก์จะรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และติดตามเอาเงินคืนหรือเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป คณะกรรมการที่โจทก์โดยอธิบดีผู้แทนของโจทก์แต่งตั้งขึ้นจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะพิจารณาหาความรู้นั้นมาเสนอ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จและทำรายงานเสนอความเห็นประกอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง ให้โจทก์ทราบในวันใดว่ามีบุคคลใดเป็นผู้ซึ่งจะต้องรับผิดในทางแพ่ง ก็ต้องถือเอาวันนั้นเป็นวันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีนี้คณะกรรมการได้ทำรายงานการสอบสวนฉบับแรกลงวันที่ 26ธันวาคม 2520 เสนออธิบดีกรมโจทก์ผ่านกองวิชาการปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.120 มีข้อความเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัด จะต้องร่วมรับผิดในเงิน 129,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ทุจริตเบียดบังเอาไป นิติกรกองวิชาการทำความเห็นเสนออธิบดีกรมโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาว่า ควรสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อธิบดีกรมโจทก์มีคำสั่งลงวันที่ 18 มกราคม 2521 เห็นชอบด้วยตามความเห็นของนิติกร ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.131 อันแสดงถึงการรับทราบรายงานการสอบสวนนั้นแล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2521 นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว ก็ทำรายงานการสอบสวนฉบับที่สองลงวันที่ 25เมษายน 2521 เสนออธิบดีกรมโจทก์ผ่านกองวิชาการยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ยังคงต้องร่วมรับผิดในจำนวนเงินเท่าเดิม ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.121 แม้ผู้อำนวยการกอง กองวิชาการ จะทำความเห็นเสนออธิบดีกรมโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาว่า คณะกรรมการยังสอบสวนเพิ่มเติมไม่ครบถ้วน ควรให้สอบสวนเพิ่มเติมอีกถึงวิธีการทุจริตของจำเลยที่ 2 ในแต่ละวัน และสอบสวนถึงการแต่งตั้งกรรมการรักษาเงินด้วย ก็หาใช่เหตุที่โจทก์จะอ้างว่ายังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ มิฉะนั้นอายุความหนึ่งปีที่กำหนดไว้ก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ เมื่อโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 18มกราคม 2521 แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2522 พ้นกำหนดหนึ่งปี คดีโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ 1 จึง ขาดอายุความแล้ว”
พิพากษายืน