คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายกาค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 ก็ต่อเมื่อเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ประกอบมาตรา 6 ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ในการทำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไว้อย่างชัดเจน คงถือเป็นหลักเกณฑ์ได้ว่า ในการใช้ดุลพินิจที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แล้วแต่กรณี จะต้องให้เหตุผลในการปฏิเสธคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และต้องเป็นเหตุที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายังมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจกึ่งตุลาการ อาจเทียบเคียงได้กับการทำคำพิพากษา จึงต้องนำหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือ การให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) หากคำวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายกาค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ซึ่งการให้เหตุผลในระดับที่วิญญูชนสามารถเข้าใจได้ก็ถือเป็นการให้เหตุผลที่เพียงพอแล้วมิใช่เป็นเหตุผลลอยๆ หรือคลุมเครือ หรือต้องให้เหตุผลในรายละเอียดทุกเรื่อง
การจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในต่างประเทศ ย่อมเป็นเรื่องของกฎหมายแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเป็นดุลพินิจของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าของแต่ละประเทศ มิใช่เงื่อนไขที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวให้ในประเทศไทยด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยมีการจดทะเบียนจำนองทรัพย์สินเป็นประกันสินเชื่อดังกล่าว ในการประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์นั้น โจทก์ได้ระดมทุนด้วยการออกหลักทรัพย์ขายให้แก่นักลงทุนสถาบันต่างๆ ทั่วโลก หลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่โจทก์นำออกขาย ได้แก่ หลักทรัพย์ประเภทหนี้หรือเรียกว่า debt securities ในการระดมทุนดังกล่าว โจทก์ใช้เครื่องหมายบริการคำว่า REFERENCE NOTES และ REFERENCE BILLS โดยเรียกชื่อโครงการระดมทุนดังกล่าวว่า REFERENCE NOTES PROGRAM และ REFERENCE BILLS PROGRAM โจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่การออกหลักทรัพย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าทั่วโลก ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2544 โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งสองต่อสำนักงานเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับบริการต่างๆ ในจำพวก 36 รายการบริการ (1) บริการด้านการเงิน (2) บริการด้านการเงินที่เกี่ยวกับเงินกู้โดยการจำนอง (3) บริการด้านการเงินที่เกี่ยวกับการค้ำประกันการจำนอง แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ โดยเห็นว่าเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะโจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของนายทะเบียนการค้า แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยืนตามความเห็นของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์เห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรการเครื่องหมายการค้าไม่ได้แสดงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่นำไปสู่เหตุผลในการปฏิเสธ เป็นการอ้างถ้อยคำของกฎหมายลอยๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำว่า REFERENCE NOTES และ REFERENCE BILLS ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะและแยกความแตกต่างระหว่างบริการของเจ้าของรายหนึ่งกับบริการของเจ้าของรายอื่นได้ สมควรได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า REFERENCE NOTES และ REFERENCE BILLS ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 463344 และ 463345 ของโจทก์เป็นเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งสองเครื่องหมายต่อไป
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอของโจทก์เป็นคำสั่งที่มีเหตุผลถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว หลักฐานที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่อประกอบข้อพิสูจน์ว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่จนถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะความมีชื่อเสียงนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการบริการของโจทก์มีการเผยแพร่จนทำให้สาธารณชนทั่วไปในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจบริการดังกล่าวแตกต่างจากบริการอื่น ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด เพราะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยมีการจดทะเบียนจำนองทรัพย์สินเป็นประกันสินเชื่อดังกล่าว ในการประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์นั้น โจทก์ได้ระดมทุนด้วยการออกทรัพย์ขายให้แก่นักลงทุนสถาบันต่างๆ ทั่วโลก หลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่โจทก์นำออกขายได้แก่ หลักทรัพย์ประเภทหนี้หรือเรียกว่า debt securities เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า Reference Bills และ Reference Notes แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่วินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยังไม่เป็นที่สุด และหลักเกณฑ์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ในการพิจารณานั้น ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ซึ่งศาลฎีกาได้เคยมีบรรทัดฐาน เห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 หากเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการพิจารณาในส่วนของกฎหมายนี้ จะเห็นว่า การทำคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งระบุไว้ว่า ถ้านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใดทั้งเครื่องหมาย หรือส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้านั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้าส่วนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้วางหลักเกณฑ์ในการทำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไว้อย่างชัดเจนคงถือเป็นหลักเกณฑ์ได้ว่า ในการใช้ดุลพินิจที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แล้วแต่กรณี จะต้องให้เหตุผลในการปฏิเสธคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และต้องเป็นเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ยังมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจกึ่งตุลาการ (Quasi judicial power) ดังนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจเทียบเคียงได้กับการทำคำพิพากษา และนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 มาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งในกรณีนี้คือ การให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) และ (5) ตามลำดับ หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่นเป็นการให้เหตุผลโดยมีพยานหลักฐานสนับสนุน หรือมีเหตุเพียงพอหรือไม่ขัดแย้งกับพยานหลักฐาน หรือเป็นการให้เหตุผลโดยสุจริตย่อมถือได้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ซึ่งการให้เหตุผลในระดับที่วิญญูชนสามารถเข้าใจได้ก็ถือเป็นการให้เหตุผลที่เพียงพอแล้ว หาใช่เป็นเหตุผลลอยๆ หรือคลุมเครือ หรือต้องให้เหตุผลในรายละเอียดทุกเรื่องตามที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในกรณีที่ว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 (2) หรือไม่ ซึ่งการนำตัวบทกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่มีการกำหนดชัดเจนดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบว่า การใช้ดุลพินิจในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ดุลพินิจในขั้นตอนการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ดุลพินิจในขั้นตอนการปรับบทกฎหมายและดุลพินิจในขั้นตอนการตัดสินใจ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนับเป็นหลักเกณฑ์ (Approach) ที่มีรายละเอียดชัดเจนและสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน ส่วนข้อที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กล่าวถึงการใช้ดุลพินิจที่มิได้วิปริตวิปลาสถึงขนาดที่ไม่อาจคาดเห็นได้ว่าจะมีวิญญูชนคนใดวินิจฉัยได้เช่นนั้นเป็นการพิจารณาถึงระดับของการใช้ดุลพินิจซึ่งเปรียบเทียบจากมาตรฐานตามหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจโดยทั่วไปนั่นเอง และเป็นถ้อยคำต่อเนื่องจากการพิจารณาว่า ถ้อยคำในกฎหมายมีความหมายที่วิญญูชนเข้าใจได้และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่การวางหลักเกณฑ์ใหม่ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า ถ้าดุลพินิจที่ใช้ไม่วิปริตปลาสก็ถือว่าถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ ทั้งคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิจารณาการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว กับให้เหตุผลในการตรวจสอบดุลพินิจของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไว้โดยชัดแจ้ง สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับการที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวในต่างประเทศแล้วนั้น ย่อมเป็นเรื่องของกฎหมายแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเป็นดุลพินิจของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าของแต่ละประเทศ หาใช่เงื่อนไขที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวให้ในประเทศไทยด้วยแต่อย่างใดไม่ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในทำนองว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนึกคิดคาดเดาเองว่า การใช้คำดังกล่าวทำให้เข้าใจบริการของโจทก์เป็นบริการเกี่ยวกับตราสารทางการเงินที่ใช้เพื่อการอ้างอิงนั้น หาได้เป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ เพราะศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กล่าวอ้างหลักฐานและหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้ง ถือว่า คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share