คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมิใช่บิดาเด็กหญิง ม. โดยเด็กหญิง ม. เป็นบุตรติด ป. มาแล้ว ป. อยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยฉะนั้น อำนาจปกครองเด็กหญิง ม. จึงตกอยู่แก่ ป.มารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1568 หาใช่อยู่ในความปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเลี้ยงไม่ และคำว่า”ผู้อยู่ในความปกครอง” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285 หมายถึงความปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่เป็นความปกครองโดยพฤตินัย จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ม.จึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงมลฤดี กอวงษ์ ผู้เสียหายอายุ 11 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยและเป็นผู้อยู่ในความปกครองของจำเลยโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำและกดทับร่างผู้เสียหายจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แล้วจำเลยได้ข่มขืนผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 285 ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะเกิดเหตุ เด็กหญิงมลฤดี กอวงษ์ ผู้เสียหายมีอายุประมาณ11 ปี 9 เดือน ตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.3 ผู้เสียหายเป็นบุตรนายมนตรี กอวงษ์กับ นางปรีดา กองวงษ์หรือวุฒิชัย ต่อมานายมนตรีกับนางปรีดาจดทะเบียนหย่ากันตามเอกสารหมาย จ.5แล้วนางปรีดาอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลย ผู้เสียหายจึงอยู่ในความดูแลของจำเลยกับนางปรีดา เมื่อวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2536 ผู้เสียหายไปแจ้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันว่าถูกจำเลยบิดาเลี้ยงข่มขืนกระทำชำเราเชื่อได้ว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตามฟ้องที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าผู้เสียหายไม่ได้ตั้งครรภ์นั้น นายแพทย์บุญเลิศ เตรียมอมรวุฒิ พยานจำเลยก็เบิกความว่ามารดาผู้เสียหายพาผู้เสียหายมาตรวจเพื่อยืนยันว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์หรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ตรวจว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนหรือไม่ในวันตรวจนั้นยืนยันแต่เพียงว่าผู้เสียหายไม่ได้ตั้งครรภ์ ถ้าหากมีการทำแท้งในขณะที่ครรภ์ยังอายุน้อยจะไม่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์พยานจำเลยที่นำสืบไม่พอรับฟังหักล้างพยานโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่โจทก์ฎีกาข้อให้ลงโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยมิใช่บิดาเด็กหญิงมลฤดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง เด็กหญิงมลฤดีเป็นบุตรติดนางปรีดามาแล้ว นางปรีดาอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยฉะนั้น อำนาจปกครองเด็กหญิงมลฤดี จึงตกอยู่แก่นางปรีดามารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1568 หาใช่อยู่ในความปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเลี้ยงไม่และคำว่า”ผู้อยู่ในความปกครอง” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285 ต้องตีความโดยเคร่งครัด ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีกฎหมายบัญญัติถึงความเป็นผู้ปกครองไว้แล้ว ฉะนั้น เมื่อมีกฎหมายอื่นกล่าวถึงความเป็นผู้ปกครองก็ย่อมหมายถึงความปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากต้องการให้มีความหมายนอกเหนือไปถึงความปกครองโดยพฤตินัยด้วยแล้วก็ย่อมจะมีระบุไว้เป็นพิเศษดังนั้น จำเลยจึงหาต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285 ไม่ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน

Share