คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่ฟ้องหาว่า จำลเยนำของออกนาอกราชอาณาจักรไทย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่างนั้นถ้าผู้กระทำผิดไม่ขอปฏิบัติตาม พ.ร.บศุลกากรเรื่องเปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่จำเป็นเปรียบเทียบ และในกรณีเช่นนี้ อัยการมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบก่นอ ทั้งในฟ้องก็ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่า ได้มีการเปรียบเทียบผู้กระทำผิดนั้นแล้วหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพยายามนำกางเกงขาสั้น ๓ ตัว เสื้อยืด ๗ ตัว อันเป็นเครื่องนุ่งห่ม ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชการอาณาจักร ซึ่งสินค้าบางอย่าง ๒๔๘๒ มาตรา ๓,๘๙ และ (ฉบับที่ ๓) ๒๔๙๐ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องโดยว่า ฟ้องขาดข้อเท็จจริงตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๕๘ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่ง ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องไว้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีชนะนี้จะต้องมีการเปรียบเทียบโดยเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรก่อน พนักงานอัยการจึงจะฟ้องร้องได้ ตามฟ้องไม่ได้กล่าวว่าได้ปฏิบัติการตามที่ ก.ม.บังคับไว้ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรหาได้บังคับว่าจะต้องมีการเปรียบเทียบทุกเรื่องทุกรายการดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ เป็นแต่ให้อำนาจอธิบดีพิจารณาตามที่เห็นสมควรเมื่อผู้ขอปฏิบัติตาม ก.ม.เซ็นยินยอมใช้ค่าปรับ เมื่ออธิบดีเห็นสมควรจะงดการฟ้องร้องเสียมิได้ แต่ถ้าอธิบดีเห็นสมควรจะฟ้องในกรณีที่มีผู้ขอปฏิบัติการตามกฎหมายที่กล่าวแล้ว จึงให้อธิบดีบันทึกความเห็นว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงควรฟ้องผู้กระทำผิด หาได้บังคับว่าอธิบดีจะต้องบันทึกความเห็นทุกเรื่องทุกรายการตลอดถึงเรื่องที่ไม่ได้มีผู้ขอปฏิบัติตามกฎหมายที่กล่าวแล้วด้วยไม่ สำหรับกรณีนี้จำเลยผู้ซึ่งถูกฟ้องหาได้ขอปฏิบัติการตาม ก.ม.ที่กล่าวแล้วไม่ จึงไม่จำเป็นที่อธิบดี จะต้องบันทึกความเห็น และไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องกล่าวในฟ้องว่า ได้ปฏิบัติตาม ก.ม.ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
จึงพิพากษายืน

Share