คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมีข้อหาว่า จำเลยหมิ่นประมาทหลวงอรรถปรีชาชนูปการอธิบดีกรมอัยการ ข้อเท็จจริงที่ว่า อธิบดีกรมอัยการ คือหลวงอรรถปรีชาชนูปการ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เองเป็นข้อที่โจทก์ต้องนำสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวัน เมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 มกราคม 2497 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยได้บังอาจประพันธ์และนำลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2497 และนำออกจำหน่ายเผยแพร่โฆษณาแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งบทความภายใต้หัวเรื่องว่า “เฉลียววอนทนายแก้ฎีกา อ้างจะเป็นอัยการร่วมมือตำรวจ” และมีข้อความว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษากรณีสวรรคตยืนตามศาลอาญาเฉพาะนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไป อธิบดีกรมอัยการได้ทำหนังสือรับรองว่า กรณีนายเฉลียวปทุมรส จำเลยสมควรนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงพิจารณา โจทก์จึงได้ยื่นฎีกาต่อศาล นายเฉลียว ปทุมรสจำเลยได้มอบให้ทนายความจัดทำคำแก้ฎีกายื่นต่อศาล และมีข้อความต่อไปโดยย่อเรื่องเป็นตอน ๆ ดังที่โจทก์บรรยายรายละเอียดมาในฟ้อง และดังข้อความที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยซึ่งโจทก์เสนอมาท้ายฟ้อง ทั้งนี้โดยจำเลยเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความหลวงอรรถปรีชาชนูปการ อธิบดีกรมอัยการ และหมิ่นประมาทหลวงอรรถปรีชาชนูปการ ผู้เป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่เป็นอธิบดีกรมอัยการ และเป็นพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในคดีสวรรคตซึ่งนายเฉลียวปทุมรส กับพวกเป็นจำเลย และได้ยื่นฎีกาเฉพาะนายเฉลียว ปทุมรส จำเลย โดยได้รับรองฎีกานั้น อันเป็นการกระทำตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อความที่จำเลยประพันธ์และนำลงพิมพ์โฆษณาดังกล่าว โดยจำเลยมีเจตนาให้มีความหมายว่า โจทก์คือหลวงอรรถปรีชาชนูปการ อธิบดีกรมอัยการ ไม่ได้ใคร่ครวญให้ดีว่าควรจะฎีกาคดีสวรรคตหรือไม่ สักแต่มีสิทธิก็ใช้สิทธินั้น ข้อความในฎีกาอธิบดีกรมอัยการเสกสรรปั้นเรื่องขึ้นโดยไม่เป็นความจริงและยกขึ้นกล่าวในฎีกาโดยเก็บเล็กผสมน้อย เท็จบ้างจริงบ้าง ไม่สำนึกในหน้าที่ของตนตามกฎหมายและศีลธรรม ขาดความเป็นตัวของตัวเองกลายเป็นว่าพนักงานอัยการเป็นเครื่องมือของพนักงานสอบสวนมิได้รักษาเกียรติและใช้สิทธิที่ชอบเพื่อรักษาเกียรติให้มีค่าในสายตาประชาชน และว่าอธิบดีกรมอัยการหาญเข้ารับรองฎีกาเป็นการสนับสนุนการกระทำของบุคคลบางจำพวกที่ฉวยโอกาสเอากรณีสวรรคตมาเป็นเกมการเมืองทำลายบุคคลอื่น การกระทำของจำเลยอาจทำให้หลวงอรรถปรีชาชนูปการอธิบดีกรมอัยการเสียชื่อเสียง ถูกคนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังและอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่ข้าราชการของกรมอัยการ วันที่ 13 เดือนเดียวกัน หลวงอรรถปรีชาชนูปการอธิบดีกรมอัยการผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ฟ้องร้องจำเลย เหตุเกิดที่ตำบลถนนสุริวงศ์ จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 116, 282พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48

จำเลยให้การปฏิเสธว่า ข้อความอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องเป็นข้อความจริงตามที่ปรากฏในกระบวนพิจารณาของศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ 1266/2494 ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยจำเลยกล่าวถึงข้อความที่ปรากฏในกระบวนพิจารณาของศาลเพื่อสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้มหาชนทราบถึงการดำเนินการในโรงศาลไม่มีเจตนาใส่ความหรือหมิ่นประมาทหลวงอรรถปรีชาชนูปการ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือบุคคลใด จึงไม่เป็นผิดฐานหมิ่นประมาท และจำเลยกล่าวตามคำแก้ของนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยซึ่งได้ยื่นต่อศาลและศาลได้สั่งรับไว้แล้ว ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 285 ไม่เป็นผิดฐานหมิ่นประมาท นอกจากนั้นจำเลยกล่าวถึงการดำเนินอยู่ในโรงศาล แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและสุภาพไม่เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 284 อธิบดีกรมอัยการมีชื่อเกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาล ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยไม่ได้เสกสรรปั้นเรื่องขึ้นเอง หลวงอรรถปรีชาชนูปการ ไม่ได้เสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

โจทก์จำเลยแถลงรับกันบางข้อ ฝ่ายโจทก์จะขอสืบพยานว่าข้อความที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ท้ายฟ้องนั้น อาจทำให้หลวงอรรถปรีชาชนูปการอธิบดีกรมอัยการ เสียชื่อเสียงหรือถูกคนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังได้ ฝ่ายจำเลยจะขอนำสืบว่า การที่ลงพิมพ์เช่นนั้นเป็นสาธารณประโยชน์

ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่า ข้อความที่โจทก์จำเลยแถลงจะขอสืบนั้นเป็นเรื่องที่ศาลรับรู้เองหรือวินิจฉัยเอง จึงให้งดสืบพยานคู่ความเสีย และวินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยลงพิมพ์นั้นเป็นข้อความหมิ่นประมาทหลวงอรรถปรีชาชนูปการ อธิบดีกรมอัยการ โดยชัดแจ้งและไม่ต้องด้วยลักษณะที่กฎหมายยกเว้นโทษดังที่จำเลยต่อสู้ จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษระอาญา มาตรา 282 ให้ปรับจำเลย 600 บาท แต่การดำเนินคดีของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับจำเลย 400 บาทไม่เสียค่าปรับให้จัดการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อข้อความที่จำเลยโฆษณาไม่ได้ระบุหรือกล่าวถึงชื่อหลวงอรรถปรีชาชนูปการ จำเลยจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหลวงอรรถปรีชาชนูปการ ก็ต่อเมื่อมีผู้อ่านข้อความที่จำเลยโฆษณานั้นรู้หรือเข้าใจว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นหมายถึงหลวงอรรถปรีชาชนูปการ หลวงอรรถปรีชาชนูปการจึงเสียหายหากผู้อ่านไม่รู้ว่า อธิบดีกรมอัยการที่จำเลยกล่าวถึงนั้นเป็นผู้ใด ก็ไม่อาจมีความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังหลวงอรรถปรีชาชนูปการได้ จำเลยก็ย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทหลวงอรรถปรีชาชนูปการปัญหาที่ว่า อธิบดีกรมอัยการที่ระบุไว้ในข้อความนั้น คือหลวงอรรถปรีชาชนูปการหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป ศาลชั้นต้นจะฟังข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เอาเอง หรือสันนิษฐานข้อเท็จจริงเอาเองโดยไม่ฟังจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบจึงไม่ชอบ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้นอุทธรณ์จำเลยข้อที่ว่า มีผู้ร้องทุกข์หรือไม่ เมื่อจำเลยไม่ติดใจต่อสู้ โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องนำสืบ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะแสดงว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 623/2480 เป็นแบบอย่าง ส่วนอุทธรณ์จำเลยข้ออื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้โจทก์สืบพยานตามที่แถลงไว้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกระบวนความ

จำเลยฎีกาต่อมาขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องตอนต้นว่าจำเลยหมิ่นประมาทอธิบดีกรมอัยการ และตอนท้ายกล่าวว่า ทั้งนี้โดยจำเลยเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความหลวงอรรถปรีชาชนูปการ อธิบดีกรมอัยการ จำเลยมิได้ให้การรับว่าหลวงอรรถปรีชาชนูปการ เป็นอธิบดีกรมอัยการ หลวงอรรถปรีชาชนูปการ เป็นอธิบดีกรมอัยการหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบ มิใช่ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป ทั้งโจทก์ก็ได้ขอนำสืบความข้อนี้ด้วยว่าหลวงอรรถปรีชาชนูปการ คือ อธิบดีกรมอัยการ ซึ่งอาจเสียชื่อเสียงถูกคนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังได้ ศาลชั้นต้นจึงยังไม่บังควรรวบรัดสั่งงดสืบพยานคู่ความเสีย เมื่อฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยข้ออื่นต่อไป

จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share