แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(1) เมื่อโจทก์บรรยายว่า จำเลยเป็นเสมียนตรา มีหน้าที่จัดทำ รักษา และรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและการเบิกจ่ายเงินและมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินไป มีรายการต่างๆ ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเงินนั้นอยู่ในความรับผิดของจำเลย ทั้งระบุวันเวลาทำผิดแต่ละรายการไว้ด้วย นั้น ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมส่วนที่ว่าจำเลยรับมาจากใครที่ไหน เมื่อใด เป็นรายละเอียดไม่ต้องกล่าวไว้
(2) เมื่อเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบรรยายว่ารู้การกระทำของจำเลยเมื่อใด
(3) เมื่อพยานโจทก์และจำเลยเบิกความตรงกันว่าเสมียนตรามีหน้าที่ทำบัญชีเงินรับเงินและจ่ายเงินของแผนกมหาดไทย แม้นายอำเภอจะสั่งให้คนอื่นเป็นหัวหน้าแต่ก็เพื่อช่วยคอยสอดส่องควบคุมอีกชั้นหนึ่งโดยมิได้ให้จำเลยพ้นจากหน้าที่เสมียนตราไป เช่นนี้ จำเลยก็ต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ฯลฯ ที่แก้ไขแล้ว
(4) บัญชีเงินต่างๆ ของทางราชการกระทรวงมหาดไทย เช่นแบบ 2 บัญชีรับจ่ายเงินเบ็ดเตล็ดและแบบ 7 บัญชีเงินการจร มีช่องที่ผู้รับเงินจะต้องลงชื่อ เมื่อลงแล้วและรับเงินไปแล้ว ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิทำให้ผู้นั้นหมดสิทธิเรียกร้องเอาเงินจากทางราชการอีกซึ่งตรงตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) จึงเป็นเอกสารสิทธิทางราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266
(5) ผู้ไม่มีสิทธิ แต่ได้ลงชื่อของผู้มีสิทธิในช่องบัญชีของผู้มีสิทธิรับเงินตามแบบ 2 แบบ 7 ย่อมเป็นการปลอมเอกสาร และเป็นข้อสารสำคัญแห่งคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินของทางราชการแผนกมหาดไทยอำเภอสุวรรณภูมิ ไป 22 รายการ เป็นเงิน 1360,728 บาท 50 สตางค์ และได้ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารทางราชการโดยลงลายมือชื่อปลอมและลงลายพิมพ์นิ้วมือบุคคลต่าง ๆ ว่าเป็นผู้รับเงินปลอมลงในเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารทางราชการขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 158, 161, 264, 265, 266 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 7 กับขอให้คืนหรือใช้เงินดังกล่าวฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดวินิจฉัยว่า จำเลยได้ยักยอกเงินในรายการที่ 3, 5, 6, 8, 11, 15, 16, 18, 19, 20 รวมเงิน 28,830 บาทโดยจำเลยปลอมลายเซ็นชื่อของบุคคลต่าง ๆ ว่าเป็นผู้รับเงินและปลอมลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลต่าง ๆ ว่าเป็นผู้รับเงิน ส่วนข้อหาตามรายการอื่นนอกจากนี้ยังชี้ขาดลงโทษจำเลยไม่ได้ และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151,158, 161, 264, 265, 266 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 7 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 7 ให้จำคุก 6 ปี กับให้คืนหรือใช้เงิน 28,830 บาท
โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อหาของโจทก์ที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องในรายการที่ 15, 16, 19 รวมเป็นเงิน 10,100 บาทนั้นรูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ยักยอกเอาเงินนั้นไป จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลจังหวัดฯ ว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,161,266 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2502 มาตรา 3 เท่านั้น แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุก 6 ปีและให้คืนเงิน 18,730 บาท
โจทก์ฎีกาให้ลงโทษตามที่กล่าวหาในรายการที่ 15, 16, 19 และให้ใช้เงินอีก 10,100 บาท
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องทุกรายการ
ศาลฎีกากล่าวว่า ข้อหาในรายการที่ 1, 2, 4, 7, 9, 10, 12, 13,14, 17, 21, 22 รวม 12 รายการ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มิได้ฎีกาเป็นอันยุติ แล้วศาลฎีกาได้วินิจฉัยต่อไป ดังนี้
1. ที่จำเลยค้านว่าฟ้องเคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์กล่าวแล้วว่าจำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งมีหน้าที่จัดทำ รักษาและรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการเบิกจ่ายเงิน จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินไป มีรายการต่าง ๆ ถึง 22 รายการ พอเข้าใจได้ว่าเงินของทางราชการที่จำเลยยักยอกนั้น อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย จำเลยจะรับมาจากใครที่ไหนเมื่อใดนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์ไม่จำต้องกล่าวในฟ้อง โจทก์บรรยายไว้ด้วยว่าจำเลยทุจริต ปลอมหนังสือและยักยอกเงินซึ่งอยู่ในหน้าที่ของจำเลย ระหว่างวันใดถึงวันใด เวลาใด ไว้แล้วทั้งระบุวันกระทำผิดแต่ละรายการไว้ด้วย พอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกถึงตลอดชีวิต มีอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ถึง 20 ปี เป็นความผิดทางอาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงวันที่โจทก์รู้เรื่องการทำผิดของจำเลย 2. ศาลฎีกาได้วินิจฉัยตามข้อหาที่ว่า จำเลยได้กระทำความผิดปลอมหนังสือและลายมือชื่อกับทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินใน 7 รายการ คือรายการที่ 3, 5, 6, 8, 11, 18, 20 และฟังว่าจำเลยได้ปลอมหนังสือและลายมือชื่อ กับทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินทั้ง 7รายการนี้
3. จำเลยโต้เถียงว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามฟ้อง เพราะคำสั่งที่ 30/2500 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2500 ของนายอำเภอให้จำเลยเป็นผู้ช่วยของนายมี ขุณิกากรณ์ ปลัดอำเภอ ไม่ปรากฏว่านายมีหรือนายอำเภอได้มอบหมายหน้าที่พิเศษอย่างใดแก่จำเลย นั้นศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งนี้มีใจความว่า ให้นายมีเป็นหัวหน้าและจำเลยนี้เป็นผู้ช่วยรับผิดชอบการงาน 18 หัวข้อ ซึ่งในหัวข้อที่ 7 มีว่าให้รับผิดชอบ “7 การเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ” ด้วย นายเถียรซึ่งเคยเป็นปลัดจังหวัดร้อยเอ็ดมาแล้วเบิกความว่า เสมียนตรามีหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินสิ่งของ พัสดุ ครุภัณฑ์ ตลอดจนการบัญชีเกี่ยวกับเงินและสิ่งของเหล่านั้น และทั้งการจัดทำและเก็บรักษาบัญชีเหล่านั้นด้วยและนายประพงษ์พยานจำเลยเองซึ่งเคยทำหน้าที่เสมียนตราอำเภอมาแล้วก็เบิกความทำนองเดียวกัน เมื่อทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยต่างก็เบิกความตรงกันเช่นนี้ การที่นายอำเภอมีคำสั่งให้นายมีเป็นหัวหน้า จำเลยเป็นผู้ช่วยรับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ ด้วยนั้นก็เพื่อให้นายมีปลัดอำเภอสอดส่องควบคุมงานบัญชีเงินการรับเงินและจ่ายเงินของจำเลยอีกชั้นหนึ่ง ในคำสั่งหาได้มีว่า ให้จำเลยพ้นหน้าที่ดังกล่าวอันเป็นหน้าที่ของเสมียนตราโดยตรงนั้นไม่ ที่จำเลยเถียงว่าตนไม่ใช่เจ้าพนักงานนั้นฟังไม่ขึ้น
4. จำเลยเถียงว่า บัญชีการเงินต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เอกสารสิทธิศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามมาตรา 266 เป็นการคลาดเคลื่อนนั้น
ศาลฎีกากล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายอาญาให้บทนิยามคำว่า “เอกสารสิทธิ” ไว้ในมาตรา 1(9) ว่า หมายความว่า “เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ”
ตามบัญชีอันเป็นเอกสารของทางราชการเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้มีบัญชีแบบ 2 คือบัญชีรับจ่ายเงินเบ็ดเตล็ด และบัญชีแบบ 7 คือ บัญชีเงินการจ่าย มีช่องที่ผู้รับเงินจะต้องเซ็นชื่อหรือลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินอยู่ด้วย ก็เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงิน ได้ลงลายมือชื่อในช่องนั้น และได้รับเงินไปแล้ว ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ คือ ทำให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินจากทางราชการได้อีก ซึ่งตรงตามความหมายของคำว่า เอกสารสิทธิในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) อยู่แล้ว เอกสารบัญชีตามฟ้องจึงต้องถือว่าเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารทางราชการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266
5. จำเลยเถียงว่า การลงบัญชีด้วยรายการรับจ่ายต่าง ๆ นั้นมิใช่เป็นการปลอมหนังสือ ในเมื่อส่วนที่เป็นประธานได้มีการจ่ายเงินออกไปตามใบสำคัญแล้วจริง ช่องบัญชีที่แสดงว่าผู้รับเงินขาดไปบ้างหรือเป็นลายมือของผู้อื่นบ้าง จึงไม่ใช่สารสำคัญ นั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเบิกความรับว่า ผู้รับเงินตามบัญชีแบบ 2 ต้องลงลายมือชื่อในบัญชีต่อหน้าจำเลย การที่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินมาเซ็นชื่อหรือลงลายมือชื่อรับเงินก็ย่อมแสดงถึงความทุจริตของผู้นั้น และถ้าผู้นั้นลงลายมือชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงินก็ย่อมเป็นการปลอมหนังสือโดยไม่มีปัญหา และบัญชีที่กรรมการรับรองว่าได้มีการจ่ายเงินไปแล้วนั้น เพื่อจะเบิกเงินจากคลัง แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินจริง เพราะตอนท้ายนายอำเภอยังต้องเซ็นชื่ออนุญาตให้จ่ายเงินอีก การที่มีผู้ลงนามปลอมในช่องผู้รับเงินตามบัญชีแบบ 2 และแบบ 7 หรือลงจ่ายแล้วไม่มีผู้ลงนามรับเงิน และเงินขาดจำนวนไปเช่นนี้ จึงเป็นข้อสารสำคัญแห่งคดี
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำผิดในรายการที่15,รายการที่ 16 และรายการที่ 19 ด้วยตามฟ้อง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 161, 266 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนัก กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินรวมทั้งหมด 28,830 บาทแก่ทางราชการแผนกมหาดไทย อำเภอสุวรรณภูมิ ด้วย
นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นให้ยกเสีย