แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของบริษัทจำเลยได้กำหนดเกี่ยวกับความผิดวินัยกรณีร้ายแรงไว้ตามหมวด 7 ข้อ 3 (4) ว่า”การดื่มสุรา สิ่งมึนเมาหรือยาเสพติดในบริเวณบริษัท หรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดวินัยร้ายแรง” เจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่จำเลยได้กำหนดระเบียบข้อบังคับการทำงานดังกล่าวข้างต้นไว้ เพราะจำเลยต้องการที่จะกำหนดเป็นมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายหรือความเสียหายซึ่งจะเกิดแก่พนักงานทุกคนหรือแก่ทรัพย์สินของจำเลย อันอาจจะเกิดขึ้นได้ไว้ล่วงหน้า เพราะการดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาก่อให้เกิดความประมาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้จำเลยมิได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานให้นำผลจากการดื่มมากดื่มน้อยเพียงใด หรือผลจากการดื่มแล้วยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่มาเป็นเกณฑ์การพิจารณาถึงความร้ายแรงหรือไม่ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์รับส่งผู้บริหารของบริษัทจำเลย ตั้งแต่เวลา 17 ถึง 20 นาฬิกา แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างระยะเวลาทำงานล่วงเวลา แต่ก็ต้องถือว่าอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์ปฏิบัติย่อมต้องใช้ความรับผิดชอบและความระมัดระวังสูง หากประมาทเลินเล่อย่อมนำมาซึ่งความเสียหายได้ทันที ดังนั้น หากปล่อยให้โจทก์ดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาจนถึงขั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อนแล้วจึงถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง นายจ้างโดยทั่วไปหรือจำเลยก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์หรือความคุ้มครองในมาตรการที่ป้องกันภยันตรายที่จำเลยได้กำหนดไว้ หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) แต่อย่างใดการที่โจทก์ดื่มเบียร์เพียงครึ่งแก้วระหว่างระยะเวลาการทำงานล่วงเวลาจึงเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย