แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเช่าที่ถูกบอกเลิกโดยถูกต้องก่อนใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ 2489 นั้น ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ 2489 เพราะสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงก่อนแล้ว และ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า 2489 ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ย้อนหลังไปคุ้มครองถึงการเช่าที่ถูกบอกเลิกไปก่อนแล้วด้วย.
เมื่อสัญญาเช่าระงับลงตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า 2488 และไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ 2489 แล้ว แม้ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลแม้จะมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม 2490 ออกมาเป็นประโยชน์แก่จำเลยผู้เช่าจำเลยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าปี 2490 แก้ไขฉะเพาะกฎหมาย ปี 2489 เท่านั้น
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่า จำเลยให้การต่อสู้ว่า ได้เช่าตึกจากโจทก์จริงแต่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๘๙ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.
ศาลชั้นต้นงดสืบพะยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อได้มี พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๘๙ แล้ว แม้จำเลยจะใช้ประกอบการค้าเป็นส่วนใหญ่ดังโจทก์ขอสืบโจทก์ก็ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญา พิพากษาให้ยกฟ้อง.
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าก่อนพ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ๒๔๘๙ ใช้บังคับ ซึ่งโจทก์มีสิทธิ์บอกเลิกได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ๒๔๘๘ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น สัญญาก็ย่อมระงับไป การอยู่ของจำเลยหลังวันใช้ พ.ร.บ. ๒๔๘๙ จึงเป็นการอยู่โดยละเมิดไม่อยู่ในข่ายแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๘๙ ศาลชั้นต้นงดสืบพะยานไม่ชอบ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพะยานแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาคงเห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ในข้อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วและยังเห็นต่อไปว่าแม้ในระหว่างพิจารณาคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ (ฉะบับที่ ๒) ๒๔๙๐ ออกใช้บังคับ แก้บทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่า “เคหะ” ให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลย แต่ พ.ร.บ. ๒๔๙๐ แก้ไขฉะเพาะ ๒๔๘๙ เท่านั้น และ พ.ร.บ. ๒๔๘๙ ก็เป็นพระราชบัญญัติเอกเทศบัญญัติขึ้นใหม่ยกเลิกกฎหมายเดิม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๙๐ จึงไม่มีทางที่จะใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยได้ เพราะถ้าเป็นจริงดังคำกล่าวหาของโจทก์ จำเลยก็อยู่ในฐานะผู้ละเมิดก่อนใช้ พ.ร.บ. ปี ๒๔๘๙ ตลอดมา
ศาลฎีกาคงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.