แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประสบอันตรายในคดีนี้เป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนซ้ายแตกหัก กล้ามเนื้อแขนซ้ายชอกช้ำ กระดูกสันหลังระดับทรวงอกปล้องที่ 12 และระดับเอวปล้องที่ 1 หักยุบ แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัดดามกระดูกแขนซ้ายด้วยโลหะและใส่เฝือกพยุงหลัง ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ระยะหนึ่ง แพทย์รักษาทางยาและทำกายภาพบำบัด ต่อมาแพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อนำเอาเหล็กที่ดามไว้ที่แขนซ้ายออก ดังนี้ แม้การประสบอันตรายของ ส. จะได้รับการผ่าตัดเพื่อดามและถอดเหล็กดามที่กระดูกแขนซ้ายเพียงแห่งเดียวก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ ส. ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขซึ่งอยู่ในเกณฑ์จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกินหกหมื่นห้าพันบาทสำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่มีลักษณะตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 251/2554 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และให้จำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจาก 45,000 บาท อีกจำนวน 33,421 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่ 251/2554 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 และให้จำเลยชำระเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจาก 45,000 บาท อีกจำนวน 33,421 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายเบียร์ สุรา โซดา และน้ำดื่ม ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สังกัดกระทรวงแรงงานมีอำนาจหน้าที่ชี้ขาดและออกคำสั่งเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา นายเสรี ลูกจ้างของโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย ขับรถยนต์นำสินค้าไปส่งให้ลูกค้าของโจทก์ ขณะขับรถกลับข้ามทางรถไฟได้เฉี่ยวชนกับขบวนรถไฟ บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเหตุให้นายเสรีได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวไปรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลจะนะแล้วแพทย์ส่งตัวนายเสรีไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลา ผลการตรวจพบว่ากระดูกแขนซ้ายแตกหัก กล้ามเนื้อแขนซ้ายชอกช้ำ กระดูกสันหลังระดับทรวงอกปล้องที่ 12 และระดับเอวปล้องที่ 1 หักยุบ แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัดดามกระดูกแขนซ้ายด้วยโลหะ และใส่เฝือกพยุงหลัง นายเสรีต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสงขลาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553ถึงวันที่ 3 กันยายน 2553 รวม 9 วัน แล้วย้ายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 3 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2553 รวม 7 วัน แพทย์รักษาทางยาและทำกายภาพบำบัด ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2553 นายเสรีเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เพื่อนำเอาเหล็กที่ดามไว้ที่แขนข้างซ้ายออก ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2553 เสียค่ารักษาพยาบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 78,421 บาทโรงพยาบาลหาดใหญ่แจ้งนายเสรีว่ามีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมได้เป็นเงินเพียง 45,000 บาท เท่านั้น โจทก์ในฐานะนายจ้างจึงออกเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินเป็นเงิน 33,421 บาท แทนนายเสรีไป ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2553 โจทก์ยื่นคำขอรับเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนเกิน 45,000 บาท ต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลาซึ่งแจ้งผลการวินิจฉัยตามมติคณะอนุกรรมการการแพทย์หน่วยที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 8/2554 วันที่ 27 เมษายน 2554 ว่า การประสบอันตรายของนายเสรีมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 45,000 บาท เนื่องจากการบาดเจ็บไม่เข้าข่ายกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2554 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลาแจ้งคำวินิจฉัยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 251/2554 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ให้โจทก์ทราบว่า นายเสรีได้รับบาดเจ็บที่กระดูกมากกว่าหนึ่งแห่งแต่ได้รับการผ่าตัดดามกระดูกแขนซ้ายเพียงแห่งเดียวกรณีไม่ใช่การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) และในกรณีนี้แม้เป็นการบาดเจ็บกระดูกสันหลังหักยุบแต่ยังคงมีความมั่นคง (STABLE) และไม่มีอาการทางระบบประสาท แพทย์จึงใส่เฝือกดามหลัง จึงไม่ใช่กรณีการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาทตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (4) การประสบอันตรายของนายเสรีมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 45,000 บาท ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ที่ 251/2554 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่านายเสรีเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 เรื่อยมาแล้วเข้ารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ถึงวันที่ 10 กันยายน 2553 แล้วเข้ารักษาตัวต่อเนื่องที่โรงพยาบาลหาดใหญ่อีก 2 ครั้ง คือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 และวันที่ 6 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2553 เป็นการเข้ารับการรักษาโดยมีค่ารักษาพยาบาลเป็นค่ายามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน ต้องด้วยประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรัง พ.ศ.2553 ข้อ 4 (4) ย่อมถือว่านายเสรีได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลังตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (4) กับวินิจฉัยว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 กำหนดว่า การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะดังต่อไปนี้ (2) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขนั้น ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นการผ่าตัดแก้ไขของกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บทุกแห่งไป กรณีนายเสรีประสบอันตรายบาดเจ็บของกระดูกหลายแห่ง แม้แพทย์จะทำการรักษาโดยการผ่าตัดดามกระดูกแขนซ้ายเพียงอย่างเดียว ส่วนกระดูกสันหลังได้รับการรักษาโดยการใส่เฝือกก็ตาม ก็ต้องถือเป็นการได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและได้รับการผ่าตัดแก้ไข ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) แล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประสบอันตรายของนายเสรี ลูกจ้าง เป็นกรณีบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551ข้อ 3 (2) หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังมาว่า การประสบอันตรายในคดีนี้เป็นเหตุให้นายเสรีได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนซ้ายแตกหัก กล้ามเนื้อแขนซ้ายชอกช้ำกระดูกสันหลังระดับทรวงอกปล้องที่ 12 และระดับเอวปล้องที่ 1 หักยุบ แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัดดามกระดูกแขนซ้ายด้วยโลหะและใส่เฝือกพยุงหลัง ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ระยะหนึ่ง แพทย์รักษาทางยาและทำกายภาพบำบัด ต่อมาแพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อนำเอาเหล็กที่ดามไว้ที่แขนซ้ายออก ดังนี้ แม้การประสบอันตรายดังกล่าวของนายเสรีจะได้รับการผ่าตัดเพื่อดามและถอดเหล็กดามที่กระดูกแขนซ้ายเพียงแห่งเดียวก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายเสรีได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขซึ่งอยู่ในเกณฑ์จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกินหกหมื่นห้าพันบาทสำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่มีลักษณะตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) แล้ว ที่ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยมาในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ประการอื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน