แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหุ้นมรดกของผู้ตายในบริษัทจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600,1629(1),1629 วรรคท้าย และ 1635(1) การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยลงทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายเป็นผู้ถือหุ้นมรดกทั้งหมดแต่ผู้เดียว เท่ากับขอให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของหุ้นมรดกทั้งหมดแต่ผู้เดียว โดยไม่แบ่งหุ้นมรดกให้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ที่ 2 เอาประโยชน์จากกิจการและประโยชน์นั้นขัดกับประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574,1575 ความหมายของมาตรา 1118 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หมายถึงหุ้นจำนวนเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ ถ้ามีหลายคนเป็นเจ้าของหุ้น หุ้นเดียวต้องให้คนใดคนหนึ่งใช้สิทธิแต่คนเดียวในฐานะผู้ถือหุ้น แต่กรณีนี้หุ้นมรดกมีจำนวน 500 หุ้น จึงอาจแบ่งระหว่างโจทก์ที่ 1กับโจทก์ที่ 2 แยกกันถือหุ้นได้ โจทก์ที่ 1 จะขอใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น มรดกเพียงผู้เดียวในหุ้นมรดกทั้งหมดโดยอ้างมาตรา 1118หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาและโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายเกรียงศักดิ์หรือกิ้มสุย ตรีวรพันธ์ หรือแซ่ตี๋ ผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวน 500 หุ้น ตั้งแต่เลขที่ 1 ถึงที่ 500 ผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 22กรกฎาคม 2520 หุ้นของผู้ตายดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับในฐานะส่วนตัวและในฐานะเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 ขอใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นขอให้บังคับบริษัทจำเลยจดทะเบียนและจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของโจทก์ลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย ตั้งแต่หุ้นเลขที่ 1 ถึง 500 ให้แก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่าโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้ลงชื่อโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียขัดต่อประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนและจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย สำหรับหุ้นเลขที่ 1ถึง 500 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับเฉพาะโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ตาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นภริยาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเกรียงศักดิ์หรือกิ้มสุย ตรีวรพันธ์ หรือแซ่ตี๋ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2520 ระหว่างมีชีวิตผู้ตายถือหุ้นพิพาทในบริษัทจำเลยตามใบหุ้นเลขที่ 1 ถึงเลขที่ 500จำนวน 500 หุ้น ภายหลังมรณกรรมของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และนายเหี้ยงได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 399/2520 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชหลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 กับนายเหี้ยงได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายรวมทั้งหุ้นจำนวนพิพาทในบริษัทจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 ได้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งหุ้นจำนวนพิพาทซึ่งตามข้อตกลงให้ตกเป็นของนายเหี้ยงเป็นโมฆะ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า นายเหี้ยงเอาทรัพย์สินของกองมรดกของผู้ตายซึ่งนายเหี้ยงเป็นผู้จัดการมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเอง ประโยชน์ส่วนได้เสียของนายเหี้ยงย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินจึงเป็นโมฆะตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยมีหน้าที่ต้องลงทะเบียนโอนหุ้นทั้งหมดของผู้ตายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ที่ 2 ก็เป็นทายาทในกองมรดกของผู้ตายอีกคนหนึ่ง เป็นการบังคับให้จำเลยปฏิบัติสิ่งที่กระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ที่ 2 อยู่ในตัว และเท่ากับโจทก์ที่ 1 ขอรับกรรมสิทธิ์ในหุ้นทั้งหมดเป็นของโจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เห็นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นภริยา โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรผู้เยาว์ของผู้ตายโจทก์ทั้งสองต่างเป็นทายาทโดยธรรม ซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหุ้นของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, 1600,1629(1), 1629 วรรคท้าย และ 1635(1) ดังนั้นตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยลงทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 500 หุ้น เท่ากับขอให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมดแต่ผู้เดียว ไม่แบ่งหุ้นมรดกให้แก่โจทก์ที่ 2 บุตรผู้เยาว์ถือได้ว่า โจทก์ที่ 1 มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองเอาประโยชน์จากกิจการและประโยชน์นั้นขัดกับประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574, 1575 ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างสิทธิตามมาตรา 1118 โดยขอใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นเพียงผู้เดียวในหุ้นทั้งหมดนั้น เห็นว่า ตามมาตราดังกล่าวหมายถึงหุ้นจำนวนหุ้นเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ ถ้ามีหลายคนเป็นเจ้าของหุ้นหุ้นเดียวนั้น ต้องให้คนใดคนหนึ่งใช้สิทธิแต่คนเดียวในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น กรณีนี้หุ้นมรดกมีจำนวน 500 หุ้น มีหมายเลขหุ้นตั้งแต่หมายเลข 1 ถึง 500 จึงอาจแบ่งระหว่างโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2แยกกันถือหุ้นได้ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิในหุ้นมรดกนั้นเท่าใด จึงไม่อาจแบ่งหุ้นอันเป็นมรดกให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในชั้นนี้ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไป ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ