แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ช่วยพัศดีเรือนจำใช้วิธีจับผู้ตายซึ่งเป็นผู้ต้องขังปีนกำแพงเรือนจำหลบหนี โดยชั้นแรกจำเลยร้องบอกให้ผู้ตายหยุดวิ่ง ผู้ตายไม่ยอมหยุดจำเลยใช้ปืนยิงขู่ไป 1 นัด ผู้ตายคงวิ่งหนีต่อไป จำเลยจึงยิงอีก 1 นัด ถูกแขนโดยมิได้เจตนาจะฆ่าผู้ตาย แต่ยิงเพื่อจับกุม ถ้าไม่ยิงผู้ตายก็น่าจะหลบหนีไปได้ จำเลยมีพวกไปด้วยอีก 2 คน แต่ผู้ตายมีสิ่วปลายแหลมในมือ ผู้ตายไม่ได้ตายเพราะแผลที่ถูกยิง แต่ตายเพราะแผลถูกตีที่ศีรษะ เช่นนี้ ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นวิธีป้องกันมิให้ผู้ตายหลบหนีเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งการจับกุมผู้ตาย ซึ่งหลบหนีจากที่คุมขังแล้ว จำเลยยังไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ผู้ต้องขังชายศักดิ์ ได้หลบหนีเรือนจำ จำเลยที่ 1เป็นผู้ช่วยพัศดี จำเลยที่ 2-3 เป็นผู้คุม จำเลยทั้งสามได้จับกุมผู้ต้องขังชายศักดิ์แล้วสมคบกันใช้ไม้ตีและปืนยิงผู้ต้องขังชายศักดิ์ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษ
จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้ยิงผู้ตายจริงแต่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ตายหลบหนีการจับกุม ไม่มีเจตนาจะฆ่า
จำเลยที่ 2-3 ให้การปฏิเสธ อ้างว่ามิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249, 60, 53 จำคุก 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-3 ไม่มีความผิด ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่มีความผิด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ใช้วิธีจับผู้ตายซึ่งเป็นผู้ต้องขังปีนกำแพงเรือนจำหลบหนี โดยชั้นแรกร้องบอกให้ผู้ตายหยุดวิ่ง ผู้ตายไม่ยอมหยุด จำเลยที่ 1 จึงยิงปืนขู่ไป 1 นัด ผู้ตายคงวิ่งหนีต่อไป จำเลยจึงยิงอีก 1 นัดถูกที่แขน โดยมิได้เจตนาจะฆ่าผู้ตาย แต่ยิงเพื่อจะจับกุมเท่านั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่กระทำเช่นนั้นแล้ว ผู้ตายก็น่าจะหลบหนีไปได้ จำเลยที่ 1 มีพวกไปด้วยอีก 2 คนผู้ตายมีสิ่วปลายแหลมอยู่ในมือ เป็นการยากที่จะจับผู้ตายได้โดยละม่อม ผู้ตายไม่ได้ตายเพราะแผลที่ถูกยิง แต่ตายเพราะบาดแผลถูกตีศีรษะ ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นวิธีป้องกันมิให้ผู้ตายหลบหนีเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งการจับกุมผู้ตายซึ่งหลบหนีจากที่คุมขังแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 และ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 17(2) ประกอบด้วยกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 52 จำเลยยังไม่มีความผิด
พิพากษายืน