คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในชั้นไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์คดีอย่างคนอนาถา จำเลยที่ 1 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานรวม 5 ฉบับ อันดับที่ 5 ได้แก่หนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานเดียวกันกับคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ยื่นพยานดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนคำร้อง และจำเลยที่ 1 ได้อ้างตนเองเป็นพยานในชั้นไต่สวนเบิกความว่า บ้านและที่ดินของจำเลยติดจำนองกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ค. ประมาณ 600,000 บาท และภริยาของจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพครู มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท แสดงว่าพยานหลักฐานที่จำเลยขออนุญาตเพิ่มเติมนั้นก็ไม่เป็นพยานหลักฐานใหม่ประกอบทั้งศาลล่างยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา เนื่องจากจำเลยที่ 1 เคยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันและทำไม้ แต่กิจการขาดทุน ส่วนภริยารับราชการครู เงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท และบุตรมีอาชีพทนายความ จำเลยที่ 1 มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองแต่จำเลยอ้างหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันเพิ่มเติมสนับสนุนว่าบ้านและที่ดินติดจำนองนั้นก็เห็นได้ว่าศาลล่างยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาด้วยเหตุผลหลายประการ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 ขออนุญาตเพิ่มเติมนั้นไม่เป็นประโยชน์ที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ยากจน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 802,715.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 501,697.45 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 มีนาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า ได้ความว่าเดิมจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันและทำไม้ แต่กิจการขาดทุน ส่วนภรรยารับราชการครู มีรายได้เป็นเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท บุตรมีอาชีพเป็นทนายความ จำเลยที่ 1 มีบ้านและที่ดินอยู่อาศัยเป็นของตนเอง แม้จะอ้างว่ามีรายจ่ายประจำครอบครัวมากจนรายได้ไม่เพียงพอ และบ้านกับที่ดินติดจำนอง แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน ข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังพอมีเงินและทรัพย์สินอื่นที่จะสามารถนำมาเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยากจนถึงขนาดไม่มีเงินเสียค่าธรรมเนียมศาลตามคำร้อง จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนยากจน ได้แก่ หนังสือสัญญากู้เงินและค้ำประกัน และใบรับเงินเดือนของภรรยา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หลักฐานที่จำเลยที่ 1 เสนอเป็นหลักฐานที่อ้างถึงในการไต่สวนอยู่แล้ว และที่ศาลไม่อนุญาตให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ไม่ใช่เพราะเหตุไม่มีหลักฐานมายืนยันเหตุเดียว กรณีไม่มีเหตุที่จะพิจารณาไต่สวนใหม่ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน หากจำเลยที่ 1 ยังติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำพิพากษา ให้คืนค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งจำนวน 40 บาท แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่ามีเหตุที่จะพิจารณาคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่หรือไม่ ปรากฏตามคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมคือหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันกับใบรับเงินเดือนของภริยาจำเลยที่ 1 เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยากจนนั้น เห็นว่า ในชั้นไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์คดีอย่างคนอนาถา จำเลยที่ 1 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานรวม 5 อันดับ อันดับที่ 5 ได้แก่หนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน ซึ่งก็เป็นพยานหลักฐานเดียวกันกับคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ยื่นพยานดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนคำร้องและจำเลยที่ 1 ได้อ้างตนเองเป็นพยานในชั้นไต่สวนเบิกความว่า บ้านและที่ดินของจำเลยติดจำนองกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแพร่ประมาณ 600,000 บาท และภริยาของจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพครู มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท แสดงว่าพยานหลักฐานที่จำเลยขออนุญาตเพิ่มเติมนั้นก็ไม่เป็นพยานหลักฐานใหม่ ประกอบทั้งศาลล่างยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา เนื่องจากจำเลยที่ 1 เคยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันและทำไม้ แต่กิจการขาดทุน ส่วนภริยารับราชการครู เงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท และบุตรมีอาชีพทนายความ จำเลยที่ 1 มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง แต่จำเลยอ้างหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันเพิ่มเติมสนับสนุนว่าบ้านและที่ดินติดจำนองนั้น ก็เห็นได้ว่าศาลล่างยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาด้วยเหตุผลหลายประการ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 ขออนุญาตเพิ่มเติมนั้นไม่เป็นประโยชน์ที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ยากจน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน หากจำเลยที่ 1 ยังติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำพิพากษา

Share