แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นายอำเภอมีอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12ที่จะสั่งยึดที่ดินของโจทก์โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้อำนาจในเหตุที่ว่านี้มีสิทธิขอให้ศาลใช้วิธีคุ้มครองโดยให้งดการบังคับคดีของกรมสรรพากรจำเลยในระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือในระหว่างพิจารณาคดีของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 โจทก์จึงขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ในระหว่างนั้นไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ไม่อนุมัติให้โจทก์ขยายกำหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้า และขอให้มีคำสั่งขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีฉุกเฉินศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องต่อมาโจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณาความว่าจำเลยที่ 1 ได้ยึดทรัพย์คือที่ดินของโจทก์รวม 22 โฉนดและได้ขายทอดตลาดไปแล้ว 5 โฉนด ทั้งกำลังจะขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวที่เหลือต่อไป ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้เพิกถอนการยึดหรือให้จำเลยที่ 1 งดการขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลภาษีอากรกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์จำนวน 17 แปลงที่เหลือตามบัญชีทรัพย์สินท้ายประกาศจังหวัดอุดรธานี เรื่องขายทอดตลาดทรัพย์สินลงวันที่ 29 กันยายน 2538 ไว้ในระหว่างพิจารณา และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีทราบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินจำเลยที่ 1 ได้ทำการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าประจำปีภาษี 2531 ถึง 2534 ของโจทก์พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 8,752,803 บาทและได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ไม่ได้ชำระจนเลยกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้วโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น นายอำเภอภายในเขตท้องที่ผู้มีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีจำเลยที่ 1 จึงได้ทำการยึดที่ดินจำนวน 22 แปลง ของโจทก์เพื่อนำมาทำการขายทอดตลาดชำระภาษีอากรที่โจทก์ค้างชำระ จำเลยที่ 1 โดยนายอำเภอได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดจากโจทก์จำนวน5 แปลง ในจำนวน 22 แปลงแล้ว สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือคาดว่าจะมีการขายทอดตลาดอีกในเจ็ดวัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อให้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางโดยให้นายอำเภองดขายทอดตลาดที่ดินส่วนที่เหลือจากที่ได้ขายทอดตลาดไปแล้วไว้ชั่วคราว ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า มีเหตุตามกฎหมายให้โจทก์ขอให้ศาลใช้วิธีคุ้มครองให้งดขายทอดตลาดที่ดินส่วนที่เหลือที่ถูกนายอำเภอยึดตามฟ้องในระหว่างพิจารณาคดีได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาหนังสือตามที่โจทก์ขออนุมัติขยายเวลายื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 และคำขออุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 และ 12 ประกอบข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วได้ความเพียงว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลบหลีกการรับใบแจ้งภาษีอากรการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 และไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงชำระภาษีอากรเท่านั้น มิได้ปฏิเสธค่าภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 ประเมินที่ได้แจ้งให้โจทก์ชำระว่ายังไม่ถึงกำหนดแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้ปฏิเสธในเหตุนี้แสดงให้เห็นว่าโจทก์รับว่าได้ค้างชำระค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้วจริง แต่จะถูกต้องตามที่เจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 ประเมินหรือไม่เป็นอีกเรื่องซึ่งในเหตุนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ได้บัญญัติว่า “ภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้วถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง
เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้
ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคสองภายในเขตท้องที่จังหวัดหรืออำเภอนั้น แต่สำหรับนายอำเภอนั้นจะใช้อำนาจสั่งขายทอดตลาดได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม ส่วนวิธีการอายัดให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”ซึ่งเห็นได้ว่า นายอำเภอในท้องที่นี้ได้ใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวข้างต้นสั่งยึดทรัพย์สินที่ดินของโจทก์โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งได้โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้อำนาจในเหตุที่ว่านี้มีสิทธิขอให้ศาลใช้วิธีคุ้มครองโดยให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 1ในระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือในระหว่างพิจารณาคดีของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 แต่อย่างใดดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือตามที่นายอำเภอสั่งยึดตามฟ้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12จึงอยู่ในดุลพินิจของนายอำเภอ เพียงแต่นายอำเภอจะต้องระมัดระวังใช้อำนาจมิให้ขัดกับคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งจะมีมาในภายหลังเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน