แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม สัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องเป็นไปตามมาตรา 118 วรรคสี่ โดยต้องเป็นสัญญาจ้างในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานจะต้องแล้วเสร็จในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เงินที่จำเลยให้โจทก์ก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลา 12 เดือน ตามสัญญาจ้าง จึงมิใช่ค่าชดเชย
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเดิมเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนระหว่างวันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวในวันที่ 13 เมษายน 2544 แล้วจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ ยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป ทั้งยังยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงต้องถือว่าได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 581 กลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้ ดังนั้นเมื่อจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบเมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2543 โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทร่วมค้าของบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ วันที่ 13 เมษายน 2543 จำเลยตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการ มีกำหนดเวลา 12 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 150,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน การจ้างมีข้อตกลงว่า ณ วันสิ้นสุดของกำหนดระยะเวลาการจ้าง 12 เดือน บริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด จะจ่ายเงินให้โจทก์ 59,441 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นการตอบแทนเพื่อให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากการยุบตำแหน่ง ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2544 ก่อนครบกำหนดเวลาสิ้นสุดการจ้างโจทก์ได้รับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการจ่ายให้ตามสิทธิของโจทก์อันเกิดจากข้อตกลงในสัญญาการจ้างงานที่โจทก์ทำกับบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด กรณีเมื่อครบกำหนดเวลาทำงานในต่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่สามารถกลับเข้าไปทำงานตำแหน่งเดิมและไม่มีตำแหน่งเทียบเท่าในประเทศออสเตรเลีย โดยคำนวณเงินจำนวนดังกล่าวจากระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ในประเทศออสเตรเลีย 5 ปี กับระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้บริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด ในประเทศไทย 3 ปี รวมเวลา 8 ปี ในอัตราเดียวกันกับอัตราค่าตอบแทนที่สหภาพแรงงานในประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ลูกจ้างภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างตามข้อตกลงในวันที่ 13 เมษายน 2544 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานต่อและจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตามปกติโดยต่อเนื่อง และโจทก์ยังคงทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม ณ ที่ทำการของจำเลยตลอดมา โดยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 150,000 บาท และค่าที่พักเดือนละ 60,000 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้างเดือนละ 210,000 บาท ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด และจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และโดยผลของกฎหมายถือว่าโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าชดเชย 630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 โจทก์ทำสัญญาจ้างกับบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด แต่เหตุที่โจทก์ทำงานในบริษัทจำเลยได้เนื่องจากจำเลยและบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในเครือของบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างเดิมของโจทก์ จำเลยมิได้จ้างโจทก์ ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยและไม่อาจนำมาบังคับจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินจำนวน 59,441 ดอลลาร์ออสเตรเลีย มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงในสัญญาจ้างข้อ 25 ข้อตกลงข้อดังกล่าวไม่มีข้อความระบุถึงข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างมาและโจทก์ไม่เคยเจรจาทำข้อตกลงกับจำเลยเกี่ยวกับการคำนวณค่าตอบแทน และจำนวนเงินดังกล่าวมิได้คำนวณจากระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด และบริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด เหตุที่ค่าตอบแทนได้กำหนดให้ในอัตราเดียวกันกับอัตราค่าตอบแทนที่สหภาพแรงงานในประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ลูกจ้าง เนื่องจากโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับพนักงานของบริษัทดังกล่าวที่เมืองซิดนีย์เท่านั้น และโจทก์ดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจึงมิได้รับประโยชน์ตามข้อตกลง ประกอบกับขณะบริษัทดังกล่าวทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน โจทก์มิได้ทำงานกับบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด เพราะโจทก์ทำงานอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งไม่มีข้อตกลงข้อใดให้ความคุ้มครองหรือให้ประโยชน์แก่โจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์หรือมีสิทธิตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลียหรือหรือประเทศไทย ภายหลังโจทก์สิ้นสุดกำหนดระยะเวลาการจ้างกับบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด กรรมการจำเลยไม่เคยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยต่อไป แต่โจทก์ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในบริษัทจำเลยต่อไปจากกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด โดยมีข้อตกลงตามสัญญาจ้างเดิมระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าว ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2543 ชอบที่โจทก์จะเรียกร้องจากบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 จำเลยไม่เคยตกลงรับโอนการจ้างโจทก์มาจากบริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด ประเทศออสเตรเลียและไม่เคยตกลงนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องมาจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์ตกลงกับบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด เพื่อทำงานในบริษัทจำเลยตำแหน่งผู้จัดการโครงการ มีกำหนดเวลา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 ตามจดหมายการจ้างงานลงวันที่ 24 มีนาคม 2543 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 150,000 บาท และค่าที่พักเดือนละ 60,000 บาท รวมเดือนละ 210,000 บาท ซึ่งมีข้อตกลงโดยชัดแจ้งว่าให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด สิ้นสุดลง ต่อมาบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด ตกลงต่ออายุการทำงานของโจทก์ต่อไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 หลังจากนั้นได้ต่ออายุการทำงานอีกครั้งจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เมื่อครบกำหนดการจ้างจำเลยมิได้ต่ออายุสัญญาโจทก์อีกตามจดหมายลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 เมื่อสัญญาจ้างโจทก์สิ้นสุดลงบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แทนบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด เป็นเงิน 59,441 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เท่ากับเงินไทย 1,359,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวณเงินที่สูงกว่าค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จำเลยจึงมิต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย และการจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2543 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทฟาสโกยามาบิชิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มร่วมค้าของบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด เมื่อโจทก์ทำงานกับบริษัทฟาสโกยามาบิชิ จำกัด ครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว ต่อมาโจทก์กับจำเลยโดยนายคริสโตเฟอร์ตำแหน่งประธานบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิกลิมิเต็ด จำกัด ที่มีอำนาจควบคุมกำกับดูแลบริษัทในเครือต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทฟาสโก้ได้มีการลงนามทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ปฏิบัติงานในประเทศไทย ตำแหน่งผู้จัดการโครงการ มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน โดยสิ้นสุดการว่าจ้างวันที่ 13 เมษายน 2544 และโจทก์ขึ้นตรงต่อนายคริสโตเฟอร์อย่างเคร่งครัด ประกอบกับจำเลยได้จ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์ตลอดมา นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน และสัญญาจ้างดังกล่าวกำหนดระยะเวลา 12 เดือน เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอน จำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า อันมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างในวันที่ 13 เมษายน 2544 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจ่ายค่าจ้างให้ จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โดยมีหนังสือยืนยันให้การจ้างสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่สัญญาที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เห็นว่า กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 วรรคสาม นั้น สัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องเป็นไปตามมาตรา 118 วรรคสี่ กล่าวคือต้องเป็นสัญญาจ้างในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานจะต้องแล้วเสร็จในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง เมื่อคดีนี้มิใช่การจ้างงานในโครงการ หรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 118 วรรคสาม ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าได้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 59,441 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย คิดเป็นเงินไทย 1,359,080 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงกว่าค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อมีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวในวันที่ 19 มีนาคม 2544 ก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลา 12 เดือน ตามสัญญาจ้าง เงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชย แต่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นกรณีพิเศษตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง เมื่อค่าจ้างของโจทก์ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 และ ล.3 ระบุไว้ชัดว่า 150,000 บาท ต่อเดือน ส่วนค่าที่พักโจทก์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง อีกทั้งค่าเช่าบ้านที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนและจ่ายโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เงินดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าบ้านอันเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งเพื่อขวัญและกำลังใจในการทำงานมิใช่ตอบแทนการทำงาน เงินดังกล่าวจึงไม่เป็นค่าจ้าง โจทก์ทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน ดังนั้นจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 450,000 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเดิมจะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนคือระหว่างวันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวในวันที่ 13 เมษายน 2544 แล้วจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่ยังคงให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปทั้งยังยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงกลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้ ดังนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบเมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 คิดเป็นเงิน 150,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 กันยายน 2545) และค่าชดเชย 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 31 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์