คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จังหวัดโดยปลัดจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากสาธารณะสมบัติของแผ่นดินโดยอ้างว่ามีอำนาจหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495มาตรา 37(7) แต่ขณะฟ้อง มาตรา 37 นั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 3)พ.ศ.2499 และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2499 เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินของผู้ว่าราชการจังหวัดหลายประการแต่ไม่มีประเด็นว่ากล่าวกันมาในศาลล่าง ทั้งคู่ความก็มิได้ยกขึ้นเป็นข้อฎีกา แม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อศาลฎีกาไม่เห็นสมควร ก็ไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495มาตรา 37(7) ซึ่งบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องผู้บุกรุกหรือไม่มีสิทธิอยู่ในสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ออกไปได้ โดยกฎหมายหาจำต้องบัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงไม่อำนาจเช่นว่านี้เป็นอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ย่อมตกเป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดจังหวัดผู้รักษาราชการแทน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 36แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2499 มาตรา 11
ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ตามธรรมดารัฐย่อมจัดใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันได้วิธีการที่จะหวงห้ามย่อมแตกต่างกันตามกาลสมัยเพิ่งมาบัญญัติเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับเมื่อ พ.ศ.2478 โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า พ.ศ. 2478ซึ่งให้หวงห้ามโดยวิธีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนหน้านั้นหาได้มีกฎหมายบังคับไว้อย่างไรไม่ดังนั้น ในปี พ.ศ.2473 สมุหเทศาภิบาลผู้ว่าราชการมณฑลในขณะนั้นอันเป็นผู้แทนส่วนหนึ่งของรัฐย่อมออกเป็นประกาศสงวนหวงห้ามที่รกร้างว่างเปล่า มิให้ผู้ใดเข้าโก่นสร้างเหยียบย่ำจับจองหรือถือกรรมสิทธิ์โดยพลการได้ ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย
ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินหวงห้ามตามประกาศของสมุหเทศาภิบาลและประกาศกระทรวงมหาดไทย การที่จำเลยเข้าครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินหาก่อให้เกิดสิทธิแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนครสวรรค์ และคุ้มครองดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมีนายเลิศ หงษ์ภักดี ปลัดจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินหวงห้ามตามประกาศของสมุหเทศาภิบาลและประกาศของกระทรวงมหาดไทย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินขอให้ขับไล่
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่พิพาทไม่อยู่ในเขตหวงห้ามและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยซื้อจากนายเรศซึ่งได้ครอบครองยึดถือเพื่อตนมากว่า ๓๐ ปีแล้ว
จำเลยร้องขอให้เรียกนายเรศเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่าได้เช่าที่พิพาทจากเรือนจำจังหวัดนครสวรรค์แล้วขายสิทธิครอบครองให้จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ที่จำเลยฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๓๗ วรรคแรก และอนุมาตรา (๗) ที่กล่าวถึงอำนาจหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินของผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้กล่าวถึงการดำเนินคดีแต่อย่างใด และการดำเนินคดีมิใช่การบริหารราชการแผ่นดินจังหวัดนครสวรรค์โดยปลัดจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจึงไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยนั้น เห็นว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕มาตรา ๓๗ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ และ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินของผู้ว่าราชการจังหวัดหลายประการแต่คดีไม่มีประเด็นว่ากล่าวกันมาในศาลล่างทั้งสอง และจำเลยก็มิได้ยกขึ้นเป็นข้อฎีกา แม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ปัญหาตามฎีกาของจำเลยนี้เป็นเรื่องการแปลมาตรา ๓๗(๗)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อกฎหมายบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องผู้บุกรุกหรือไม่มีสิทธิอยู่ในสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ออกไปได้โดยกฎหมายหาจำต้องบัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงไม่ เพราะถ้าขาดอำนาจดำเนินคดีเสียแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ลุล่วงไปได้อย่างไร อำนาจเช่นว่านี้เป็นอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดชนิดหนึ่งเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ย่อมตกเป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดจังหวัดผู้รักษาราชการแทน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๓๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๑
ที่จำเลยฎีกาว่า ประกาศของสมุหเทศาภิบาลลงวันที่ ๑๓ มีนาคม๒๔๗๓ เรื่องหวงห้ามที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินบริเวณเชิงเขากบถึงเขาแรดมิใช่กฎหมายไม่มีผลใช้บังคับนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นตามธรรมดารัฐย่อมจัดใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันได้ วิธีการที่จะหวงห้ามนั้นย่อมแตกต่างกันตามกาลสมัย เพิ่งมาบัญญัติเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งให้หวงห้ามโดยวิธีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนหน้านั้นหาได้มีกฎหมายบังคับไว้อย่างไรไม่ ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ สมุหเทศาภิบาลผู้ว่าราชการมณฑลนครสวรรค์ในขณะนั้นอันเป็นผู้แทนส่วนหนึ่งของรัฐย่อมออกเป็นประกาศสงวนหวงห้ามที่รกร้างว่างเปล่ามิให้ผู้ใดเข้าโก่นสร้างเหยียบย่ำจับจองหรือถือกรรมสิทธิ์โดยพลการได้ ประกาศของสมุหเทศาภิบาลดังกล่าวแล้วจึงมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย
ฎีกาของจำเลยข้อสุดท้าย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินหวงห้ามตามประกาศของสมุหเทศาภิบาลและประกาศกระทรวงมหาดไทยการที่จำเลยเข้าครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หาก่อให้เกิดสิทธิแต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share