แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำหนังสือกู้ยืมเงินรวมทั้งลงลายมือชื่อส. ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองภายหลังที่ส. ตายไปแล้วและใจความของสัญญาที่ว่าส.กู้ยืมเงินจำเลยถ้าส. ไม่คืนเงินยอมโอนที่ดินสวนยางพาราแก่จำเลยนั้นนอกจากไม่เป็นความจริงแล้วยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของส. อีกด้วยทั้งจำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับด. ผู้ทำไฟไหม้สวนยางพาราของส.ว่าที่ดินของส. เป็นของจำเลยและจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไปการกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิ ข้อความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา264ที่ว่าโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนไม่ใช่การกระทำโดยแท้และไม่ใช่เจตนาพิเศษจึงไม่เกี่ยวกับเจตนาแต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปส่วนคำว่าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงนั้นเป็นเจตนาพิเศษโดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใดดังนั้นการที่จำเลยเจตนาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อให้ด. หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้วแม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารไปใช้แสดงต่อด. ก็ตามทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายจึงเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับซึ่งหลักฐานการกู้ยืมเงินโดยมีข้อความระบุว่านายสูโม๊ะ บุตรหลำกู้ยืมเงินจากจำเลย 100,000 บาท หากนายสูโม๊ะไม่ชำระเงินคืนจะต้องโอนที่ดิน 1 แปลงเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน ให้แก่จำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะความจริงนายสูโม๊ะซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วไม่เคยกู้ยืมเงินจากจำเลยและไม่เคยทำเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าวเพื่อให้ทายาทของนายสูโม๊ะและบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสูโม๊ะและทายาทของนายสูโม๊ะ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ประกอบมาตรา 264 ให้จำคุก 6 เดือน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าประมาณกลางปี 2536 จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.3 ขึ้นทั้งฉบับ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือไม่ โจทก์มีนายม่าดีบุตรนายสูโม๊ะเบิกความเป็นพยานว่าลายมือชื่อนายสูโม๊ะในช่องผู้ให้สัญญาในเอกสารหมาย จ.1(ซึ่งมีต้นฉบับตามเอกสารหมาย จ.3) ไม่ใช่ลายมือชื่อนายสูโม๊ะและนายสูโม๊ะไม่เคยกู้ยืมเงินผู้ใด นายม่าดีเข้าใจว่าจำเลยทำเอกสารดังกล่าวเพื่อฉ้อโกงที่ดินจำนวน 14 ไร่เศษของ นายสูโม๊ะ นายสูโม๊ะถึงแก่กรรมแล้วเมื่อปี 2533 การที่เอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2531 เป็นการลงวันที่ย้อนหลัง เห็นว่า จำเลยนำสืบรับว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเพื่อนำไปเรียกร้องค่าเสียหายจากนายแดง ปานขวัญผู้ทำไฟไหม้สวนของจำเลยของนายสูโม๊ะและของนายสุมล สมัยพิทักษ์เมื่อต้นเดือนเมษายน 2535 โดยจำเลยทำสัญญาดังกล่าวขึ้นหลังจากเกิดไฟไหม้เกือบ 1 ปี ซึ่งในขณะเกิดเหตุไฟไหม้นายสูโม๊ะพ่อตาจำเลยได้เสียชีวิตแล้วและจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าข้อความตามเอกสารหมาย จ.3 ตลอดจนลายมือชื่อของนายสูโม๊ะล้วนเป็นลายมือของจำเลย เหตุที่ทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับนายแดงว่าที่ดินของนายสูโม๊ะเป็นของจำเลยและจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไปอันเป็นการเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ ทำให้ฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.3 รวมทั้งลายมือชื่อนายสูโม๊ะผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี 2536 ภายหลังที่นายสูโม๊ะถึงแก่ความตายไปแล้วในปี 2533และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่15 ธันวาคม 2531 ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่างนายสูโม๊ะกับจำเลยในขณะที่นายสูโม๊ะยังมีชีวิตอยู่และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่า นายสูโม๊ะกู้ยืมเงินจำเลย100,000 บาท ถ้านายสูโม๊ะไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าวนายสูโม๊ะยอมโอนที่ดินสวนยางพาราเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งานแก่จำเลยนั้น นอกจากไม่เป็นความจริงแล้วยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของนายสูโม๊ะอีกด้วย และจำเลยเบิกความไว้ชัดแจ้งแล้วว่า เหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับนายแดงว่าที่ดินของนายสูโม๊ะเป็นของจำเลย และจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไปซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้นายแดงหลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิที่จำเลยฎีกาว่าข้อความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ที่ว่า” โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง”เมื่อศาลวินิจฉัยว่าทายาทของนายสูโม๊ะเป็นผู้ที่น่าจะได้รับความเสียหายดังนั้นผู้ที่หลงเชื่อตามเอกสารที่จำเลยกระทำก็น่าจะต้องหมายถึงทายาทของนายสูโม๊ะด้วย มิได้หมายความถึงนายแดงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทำให้ผู้เสียหายในคดีนี้ได้รับความเสียหายเพียงแต่จำเลยเบิกความว่าจะนำไปแสดงเท่านั้น แต่ยังมิได้นำไปแสดงแต่ประการใดนั้น เห็นว่า ข้อความที่ว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”ไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนาแต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า “ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง” นั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใดดังนั้นการที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารหมาย จ.3 ขึ้นเพื่อให้นายแดงหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้วแม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารหมาย จ.3 ไปใช้แสดงต่อนายแดงก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยดังจำเลยฎีกา จึงเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 4,000 บาท อีกโสดหนึ่งให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ค่าปรับไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3