คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายเรียกและหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยทั้งสองครั้ง จำเลยได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่วัด ซึ่งห่างจากบ้านจำเลยเพียงประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางไปมาสะดวก ที่บ้านจำเลยมีภริยาบุตรสาวและบุตรเขยของจำเลยอาศัยอยู่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักไปทำบุญที่วัดดังกล่าวเป็นประจำ ทั้งในการส่งหมายให้แก่จำเลยทั้งสองครั้งเจ้าหน้าที่พบภริยาจำเลยอยู่ที่บ้าน แต่ภริยาจำเลยไม่ยอมรับหมายแทน จึงได้ปิดหมายไว้ตามคำสั่งศาล แสดงว่าภริยาจำเลยทราบเรื่องการส่งหมายทั้งสองครั้งแล้ว ซึ่งตามปกติวิสัยเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ ภริยาจำเลยหรือบุคคลอื่นในบ้านย่อมต้องรีบแจ้งให้จำเลยทราบเรื่อง ดังนั้น การที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การในกำหนด และไม่ได้ไปศาลตามวันเวลาที่นัดสืบพยานโจทก์โดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ ย่อมถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและจงใจขาดนัดพิจารณา คดีจึงไม่มีเหตุให้พิจารณาใหม่และรับคำให้การของจำเลย

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3555 ตำบลน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา ให้โจทก์ และรับเงิน 50,000 บาท จากโจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน หากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยคืนเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 โจทก์นำเงินจำนวน 50,000 บาท มาวางต่อศาลเพื่อให้จำเลยมารับไปตามคำพิพากษาของศาล

ครั้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 จำเลยยื่นคำแถลงว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538 นั้น จำเลยได้อุปสมบทอยู่ที่วัดอมฤตวารีจังหวัดอุทัยธานี จึงไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องทำให้ไม่สามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ในปี 2532 หลังจากโจทก์ไม่ชำระเงินค่าซื้อขายตามกำหนดเวลาในสัญญา เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของจำเลยคิดว่าโจทก์ผิดสัญญาซื้อขายและไม่ประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว โดยสุจริต จำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงพิพาทให้แก่นางสมควร ตระกูลอินทร์ บุตรสาวของจำเลยโดยขณะนั้นโจทก์ก็ทราบดี จำเลยจึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้ ขอวางเงินตามคำพิพากษาจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ไว้ที่ศาลเพื่อคืนให้โจทก์โดยให้โจทก์มารับเงินดังกล่าวไป

วันที่ 30 พฤษภาคม 2539 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าไม่ประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าว เพราะโจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการยกให้ที่ดินดังกล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการให้แล้ว คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์จึงสามารถบังคับคดีเอากับที่ดินดังกล่าวได้

วันที่ 24 มิถุนายน 2539 จำเลยยื่นแถลงขอถอนการวางเงินจำนวนดังกล่าว ศาลอนุญาตแล้ว

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2539 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ อ้างว่าจำเลยเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 แล้ว โดยโจทก์มิได้ส่งคำบังคับแจ้งให้จำเลยทราบแต่อย่างใดความจริงจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและคดีโจทก์ขาดอายุความ ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง (วันที่ 30 มิถุนายน 2538) จำเลยมิได้พักอาศัยอยู่ ณ ภูมิลำเนา ตามทะเบียนบ้านเลขที่ 283/1 ถนนวงศาโรจน์ ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากจำเลยไปอุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัดอมฤตวารี (วัดหนองน้ำคัน) จึงไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยมิได้มีเจตนาหรือจงใจที่จะไม่ต่อสู้คดีและมิได้จงใจขาดนัดพิจารณา โจทก์เองก็ทราบว่าจำเลยมิได้พักอาศัยอยู่ตามภูมิลำเนาข้างต้น

โจทก์คัดค้านว่า จำเลยทราบว่าตนถูกฟ้องแต่จงใจขาดนัดพิจารณา และการที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า แม้จำเลยจะต่อสู้คดีก็ไม่ทำให้ชนะคดีโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีมีเหตุให้พิจารณาใหม่และรับคำให้การของจำเลยหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ทราบดีอยู่ก่อนที่จะมีการฟ้องคดีว่าจำเลยไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดหนองน้ำคันการที่โจทก์ยืนยันให้ไปส่งหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลย (บ้านเลขที่ 283/1 ถนนวงศาโรจน์ ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี) เป็นการไม่ชอบและมีเจตนาที่จะปกปิดมิให้จำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดี เห็นว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยนั้น ปรากฏตามรายงานการส่งหมายของเจ้าหน้าที่ที่ศาลชั้นต้นว่า ส่งได้โดยวิธีปิดหมายที่บ้านเลขที่ 283/1 ดังกล่าวตามคำสั่งศาล ซึ่งเป็นบ้านที่จำเลยกล่าวในฎีกายอมรับว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยและไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อสู้ว่าการส่งหมายของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบอย่างไร จึงถือได้ว่าเป็นการส่งหมายให้แก่จำเลยโดยชอบแล้ว ดังนั้น ข้อเท็จจริงแม้หากจะฟังว่า ขณะที่ส่งหมายทั้งสองครั้ง จำเลยอุปสมบทเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองน้ำคันก็ตาม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า วัดดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านจำเลยเพียงประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางไปมาสะดวกที่บ้านจำเลยมีภริยา บุตรสาวและบุตรเขยของจำเลยอาศัยอยู่ ซึ่งภริยาและบุตรสาวของจำเลยมักไปทำบุญที่วัดดังกล่าวเป็นประจำ ทั้งในการส่งหมายให้แก่จำเลยทั้งสองครั้งนี้ได้ความตามรายงานการส่งหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ส่งหมายด้วยว่า พบภริยาจำเลยอยู่ที่บ้าน แต่ภริยาจำเลยไม่ยอมรับหมายแทนจำเลย จึงได้ปิดหมายไว้ตามคำสั่งศาลแสดงว่าภริยาจำเลยทราบเรื่องการส่งหมายทั้งสองครั้งแล้ว ซึ่งเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเช่นนี้ น่าเชื่อว่าตามปกติวิสัยแล้ว ภริยาจำเลยหรือบุคคลอื่นในบ้านจำเลยย่อมจะต้องรีบไปแจ้งให้จำเลยทราบเรื่องหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องรวมทั้งหมายนัดสืบพยานโจทก์ที่เจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นไปปิดไว้ที่บ้านแล้ว ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การในกำหนด และไม่ได้ไปศาลชั้นต้นตามวันเวลาที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ โดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลชั้นต้นทราบ ย่อมถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและจงใจขาดนัดพิจารณา ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์ทราบดีอยู่ก่อนฟ้องคดีว่าจำเลยไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดหนองน้ำคัน การที่โจทก์ยืนยันให้ส่งหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยเป็นการไม่ชอบและมีเจตนาที่จะปกปิดมิให้จำเลยต่อสู้คดีได้นั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะรับฟังว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้จงใจขาดนัดพิจารณา คดีจึงไม่มีเหตุให้พิจารณาใหม่และรับคำให้การของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share