คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7643/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย พูดกับโจทก์ที่ 1 ว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินเดือนสูงถ้าจะลดค่าจ้างจะอยู่ได้หรือไม่และให้โจทก์ทั้งสองขนย้ายทรัพย์ออกไปจากบริษัทจำเลยในตอนเย็นของวันที่พูด กับได้จ่ายค่าจ้างถึงวันดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองด้วย พฤติการณ์ถือได้ว่า จำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งสองทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 6,300 บาทและค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 56,700 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 28,350 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 30,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดหรือละทิ้งหน้าที่ พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสองและยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าไม่ปรากฏว่านายไชยวัฒน์ ลีพาณิชยบุตรผู้จัดการทั่วไปได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย นายไชยวัฒน์จึงไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่านายไชยวัฒน์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและเป็นผู้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง แสดงให้เห็นว่า นายไชยวัฒน์เป็นผู้มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั่นเอง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อไปว่า นายไชยวัฒน์ ลีพาณิชยบุตรพูดกับโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองมีเงินเดือนสูง ถ้าจะลดค่าจ้างจะอยู่ได้หรือไม่และให้โจทก์ทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินออกไปก่อน4 โมงเย็นของวันดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า นอกจากนายไชยวัฒน์จะพูดกับโจทก์ที่ 1ดังกล่าวแล้วนายไชยวัฒน์ยังให้โจทก์ทั้งสองขนย้ายทรัพย์ออกไปจากบริษัทจำเลยในตอนเย็นของวันดังกล่าวกับได้จ่ายค่าจ้างถึงวันดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองด้วย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งสองทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองชอบแล้วอุทธรณ์จำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share