แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจาก พ. แล้วยังมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ด้วย เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสัญญาให้โดยเสน่หาแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 4157 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์และห้ามเกี่ยวข้องอีก
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4157 ระหว่างนางกรรณิกา ผู้ขายจำเลยที่ 1 กับนายสมจิตต์ ผู้ซื้อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 เสีย ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 4157 ให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีบุตรด้วยกัน 2 คน และจดทะเบียนหย่าขาดจากกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4157 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา โจทก์ซื้อมาจากนายสมพงษ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ถูกนำไปขายฝากแก่นายพรเลิศ มีกำหนด 1 ปี วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 มีการไถ่ถอนการขายฝากแล้วโอนให้โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขายฝาก ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากจากนายพรเลิศ และให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสือมอบอำนาจปลอม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าปลอมอย่างไรเป็นการปลอมลายมือชื่อโจทก์ ปลอมเนื้อความ หรือปลอมทั้งฉบับ แม้ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในเอกสารดังกล่าวไม่เหมือนกับลายมือชื่อโจทก์ในใบแต่งทนายความคดีนี้ โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า ลายมือชื่อโจทก์ในช่วงเกิดเหตุเป็นอย่างไร ทั้งไม่ได้ยืนยันว่า โจทก์ไม่เคยเปลี่ยนลายมือชื่อตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ประกอบกับการรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรณีมอบอำนาจเจ้าพนักงานที่ดินต้องตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนและข้อมูลทะเบียนราษฎร์อย่างละเอียดรอบคอบ นายวิรพล เจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นพยานโจทก์เองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า เจ้าพนักงานตรวจสอบลายมือชื่อและเอกสารประกอบแล้วน่าเชื่อว่า มีการมอบอำนาจจริง ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำนายกงจักร เจ้าพนักงานที่ดินผู้ดำเนินการตรวจสอบมาเบิกความยืนยันข้ออ้าง เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้าง แต่ไม่นำสืบให้ข้อเท็จจริงปรากฏ ถือว่าโจทก์นำสืบประเด็นนี้ไม่สมตามคำฟ้องจึงรับฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจากนายพรเลิศและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยข้างต้นว่า โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งนอกจากมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจากนายพรเลิศแล้ว ยังมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ด้วย เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสัญญาให้โดยเสน่หา ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 ดังนั้น สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของโจทก์ แม้โจทก์ไม่ยินยอมก็ไม่มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การก็ต้องยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ