คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมิได้มีการตกลงไว้ว่าหากผิดสัญญาสามารถกำหนดเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายกันได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ร่วมจะคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน แก่ลูกหนี้ทุกรายที่ผิดนัด รวมทั้งจำเลยด้วย เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ร่วมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน การที่เช็คพิพาทเป็นเช็คค่าสินค้าที่คิดรวมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไว้ด้วยจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หาใช่เป็นการคิดค่าเสียหายเอาตามอำเภอใจของโจทก์ร่วมแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาทไม่ใช่หนี้กู้ยืม ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญไทยวัสดุก่อสร้าง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เช็คฉบับที่ 1 และที่ 3 จำคุกกระทงละ 2 เดือน เช็คฉบับที่ 2 และที่ 4 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทรวม 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระค่าสินค้าที่ซื้อไปจากโจทก์ร่วม เมื่อเช็คพิพาทดังกล่าวถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททุกฉบับ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงไม่ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่าขณะที่โจทก์ร่วมและจำเลยทำสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างต่อกันนั้นมิได้มีการตกลงกันไว้ว่าหากผิดสัญญาสามารถกำหนดเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายกัน แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากนางสาววิภารัตน์พนักงานขายของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมจะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน แก่ลูกหนี้ทุกรายที่ผิดนัด และในกรณีของจำเลยไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ดังนั้น จำนวนเงินในเช็คจึงมียอดเงินแตกต่างจากใบส่งของ แสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องทราบแล้วว่า ถ้าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้จำเลยต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมโดยคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ซึ่งจำเลยก็ยินยอมสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยรวมอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้วให้โจทก์ร่วม จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หาใช่เป็นการคิดเอาตามอำเภอใจของโจทก์ฝ่ายเดียวแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการชำระค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ซึ่งเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ไม่ใช่หนี้กู้ยืมย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง หนี้ตามเช็คพิพาทจึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่เป็นหนี้ดังกล่าวมาก่อนแล้ว แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับแทนของเดิมที่เรียกเก็บเงินไม่ได้ แสดงว่าโจทก์ร่วมรู้ถึงฐานะทางการเงินของจำเลยดีว่าไม่สามารถชำระหนี้ตามเช็คพิพาทได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า คงมีเพียงคำเบิกความของจำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช็ค 4 ฉบับแรก โจทก์ร่วมไปบอกจำเลยให้ออกเช็คฉบับใหม่โดยคิดดอกเบี้ยรวมเข้าไว้ด้วย มิฉะนั้นจะดำเนินคดีแก่จำเลยในส่วนของเช็ค 4 ฉบับแรกเท่านั้น หาได้มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือแต่อย่างใดไม่จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และร่วมฟังขึ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งจำนวนเงินตามเช็คไม่มากนักโดยไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ฉ้อโกงหรือฉ้อฉลโจทก์ร่วม นับว่ามีเหตุผลอันควรปรานี เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ แต่ให้ลงโทษปรับจำเลยด้วย”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษสำหรับเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 4,000 บาท ส่วนเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 จำคุกกระทงละ 1 เดือน และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือนและปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share