คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองมิได้อ้างสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6310/2534 ในบัญชีระบุพยาน แต่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าคู่ความแถลงรับกันว่าโจทก์ได้เป็นพยานเบิกความไว้ที่ศาลแพ่ง ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6310/2534 แต่คำเบิกความดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังติดต่อขอคัดไม่ได้เนื่องจากสำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยรับจะดำเนินขอคัดคำเบิกความดังกล่าวและอ้างส่งต่อศาลในภายหลังและต่อมาศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า คู่ความแถลงรับว่าทนายจำเลยทั้งสองขออ้างคำเบิกความดังกล่าว ศาลหมาย ล.9 ให้แยกเก็บและให้เสียค่าอ้าง และได้มีการนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปอีก 2 นัด โดยโจทก์มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง ดังนี้เมื่อบันทึกคำเบิกความโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.9เป็นพยานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงมีอำนาจรับฟังเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางชื่น บัณฑิตได้อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายละม่อม บัณฑิตระหว่างอยู่กินได้ร่วมกันทำมาหาได้ที่ดินจำนวน 3 แปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1796 เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวาใส่ชื่อนางชื่นแต่ผู้เดียวโดยโจทก์ปลูกบ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 9เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับภริยาจนถึงปัจจุบัน ที่ดินโฉนดเลขที่ 17646เนื้อที่ 1 งาน 47 ตารางวา ใส่ชื่อโจทก์ นางชื่นและนายละม่อมและที่ดินโฉนดเลขที่ 2582 เนื้อที่ 25 ไร่1 งาน ใส่ชื่อโจทก์แต่ผู้เดียวเช่นกัน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2534นางชื่นได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง โจทก์ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางชื่นผู้ตาย ศาลมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 ขณะเดียวกันนายละม่อมได้ร้องขอต่อศาลแต่งตั้งจำเลยทั้งสองและนายทองหล่อ เพี้ยนศรีเป็นผู้จัดการมรดกของนางชื่น ศาลมีคำสั่งอนุญาตซึ่งโจทก์ได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอน ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2537 ให้ถอนนายทองหล่อจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางชื่น คงเหลือแต่จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางชื่นร่วมกัน โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น ซึ่งโจทก์และนางชื่นทำมาหาได้ร่วมกันและมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่งหนึ่งในฐานะหุ้นส่วนตามกฎหมาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1796,17646 ครึ่งหนึ่ง โดยให้แบ่งที่ดินในส่วนที่โจทก์ครอบครองซึ่งมีบ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 9 คิดเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน31 ตารางวา และ 73 ตารางวา ตามลำดับ และที่ดินโฉนดเลขที่ 2582 เป็นของโจทก์ครึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 12 ไร่2 งาน 50 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่แบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถานคู่ความทุกฝ่ายรับกันว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 17646 เนื้อที่ 147 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ครึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17646 เป็นเนื้อที่ 73.5 ตารางวา และบ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 9 คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1796 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2582เป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับนางชื่นร่วมกันทำมาหาได้ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งจริงหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนางชื่นแต่ผู้เดียว ไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์และนางชื่นทำมาหาได้ด้วยกันระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยา
ปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้การที่ศาลรับฟังบันทึกคำเบิกความโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6310/2534 ของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย ล.9 ชอบหรือไม่เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 2 มีนาคม 2538ศาลได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า อนึ่ง ระหว่างสืบพยานคู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ได้เป็นพยานเบิกความไว้ที่ศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6310/2534 ระหว่างนายละม่อม บัณฑิต ผู้ร้อง กับนายลมูล บัณฑิต ผู้ร้องคัดค้านแต่คำเบิกความดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังติดต่อขอคัดไม่ได้เนื่องจากสำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยจำเลยรับจะดำเนินขอคัดคำเบิกความดังกล่าวและอ้างส่งต่อศาลในภายหลัง และตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าอนึ่ง ตามที่คู่ความแถลงรับว่า โจทก์ได้เป็นพยานเบิกความไว้ที่ศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6310/2534ทนายจำเลยทั้งสองขออ้างคำเบิกความดังกล่าว ศาลหมาย ล.9ให้แยกเก็บและให้เสียค่าอ้าง และได้มีการนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปอีก 2 นัดโจทก์มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่า เอกสารดังกล่าวไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้องอย่างไรก็ดีกฎหมายมิได้บัญญัติเป็นการเคร่งครัดตายตัวว่าหากคู่ความฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการยื่นและการรับฟังพยานหลักฐานแล้ว ศาลต้องปฏิเสธไม่รับฟังหลักฐานเช่นว่านั้นเสมอไป หากเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเป็นพยานสำคัญในคดีแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นนั้นได้กรณีของจำเลยทั้งสองนี้บันทึกคำเบิกความโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6310/2534ของศาลชั้นต้น เอกสารหมาย ล.9 ที่จำเลยทั้งสองอ้างนั้นเป็นพยาน พยานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share